0
รู้จักนายเอ็ด มิลิแบนด์ หัวหน้าพรรคแรงงาน

นายเอ็ด มิลิแบนด์ หัวหน้าพรรคแรงงานเคยถูกมองว่าเป็นแค่มวยรองบ่อนเมื่อครั้งที่เข้ามากุมบังเหียนพรรคแรงงานใหม่ๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ดูเหมือนคะแนนนิยมในตัวเขา จะค่อย ๆ กระเตื้องขึ้น สำหรับการเลือกตั้งหนนี้ นายมิลิแบนด์ชูประเด็นการต่อต้านกลุ่มแสวงหาผลประโยชน์

เส้นทางการเมืองของนายมิลิแบนด์เริ่มขึ้นจากการเข้ามาเป็นทีมงานวิจัยข้อมูลให้กับนางแฮร์เรียต ฮาร์แมน สมาชิกพรรคแรงงาน แต่เพราะความชำนาญในเรื่องตัวเลขชนิดหาตัวจับยาก เขาจึงถูกนายกอร์ดอน บราวน์ ว่าที่รัฐมนตรีคลังในรัฐบาลเงาดึงตัวไปช่วยงาน และเมื่อพรรคแรงงานชนะการเลือกตั้ง นายมิลิแบนด์ก็ได้เลื่อนขั้นเป็นที่ปรึกษาพิเศษของนายบราวน์ ขณะที่พี่ชายของเขาคือนายเดวิด มิลิแบนด์ทำงานให้กับนายโทนี แบลร์นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น

หลังเว้นวรรคจากวงการเมืองไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในสหรัฐฯ เมื่อปี 2546 นายมิลิแบนด์ ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตดอนคาสเตอร์ นอร์ธฐานเสียงของพรรคแรงงานในปี 2548 โดยชนะการเลือกตั้ง ปีต่อมาเขาเข้ารับตำแหน่งผู้ช่วยรมต. และไต่เต้าขึ้นมาเป็นรมต.ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วงระหว่างปี 2551-2554

ก่อนก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคหลังการพ่ายแพ้ของพรรคแรงงานให้กับรัฐบาลผสมพรรคอนุรักษ์นิยมกับพรรคเสรีประชาธิปไตย นายมิลิแบนด์ ต้องฟาดฟันกับพี่ชายของตนเองในการชิงเก้าอี้ผู้นำ ซึ่งท้ายสุดเขาก็เป็นฝ่ายชนะอย่างเฉียดฉิวเพราะมีนโยบายต้องใจกลุ่มคนหัวเก่าในพรรค มากกว่า ความเป็นที่นิยมในกลุ่มสหภาพแรงงาน ทำให้นายมิลิแบนด์ถูกสื่อมวลชนติดป้ายชื่อให้ เป็น “Red Ed” หรือ เอ็ดแดง

หลังก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง นายมิลิแบนด์พยายามปรับอุดมการณ์พรรคเสียใหม่เพื่อเรียกคะแนนนิยม ด้วยการชูนโยบายเข้มงวดเรื่องคนเข้าเมืองและสวัสดิการสังคม แต่ขณะเดียวกันก็ยึดหลักนโยบายดั้งเดิม อย่างเช่นการขึ้นค่าแรงเอาไว้

ที่ผ่านมา นายมิลิแบนด์มักถูกล้อเลียนว่ามีบุคลิกดูออกไปในแนวทึ่มและทำท่าทางพิลึกในบางครั้ง แต่เขาก็ยักไหล่บอกว่า “หากอยากได้นักการเมืองที่เห็นว่าภาพถ่ายเป็นสิ่งสำคัญที่สุดล่ะก็ อย่ามาเลือกผม”

อย่างไรก็ตาม นายมิลิแบนด์สามารถเรียกเสียงชื่นชมได้จากการลุกขึ้นต่อสู้กับกลุ่มผลประโยชน์ เช่นการต่อสู้เพื่อลดค่าพลังงานไฟฟ้าและต่อต้านการดักฟังโทรศัพท์ของบุคคลในวงการต่าง ๆ รวมทั้งวงการบันเทิงที่กลายมาเป็นข่าวฉาวโฉ่อยู่ระยะหนึ่ง

โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ พรรคแรงงานตั้งความหวังเอาไว้กับนายมิลิแบนด์ว่า เขาจะสามารถโน้มน้าวผู้มีสิทธิ์ออกเสียงให้เชื่อได้ว่า จะมีก็แต่พรรคแรงงานเท่านั้นที่จะรักษาระบบ NHS หรือบริการสุขภาพแห่งชาติอันเป็นที่หวงแหนของคนในสหราชอาณาจักรเอาไว้ได้ และพรรคแรงงานเท่านั้น ที่จะสามารถกอบกู้เศรษฐกิจเพื่อนำความรุ่งเรืองมาสู่ประเทศต่อไปได้


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top