นักศึกษาแพทย์หญิงในปากีสถาน เรียนจบแล้วเป็นแพทย์หรือแต่งงานเป็นแม่บ้านดี ?
สถิติของแพทยสภาและทันตแพทยสภาแห่งปากีสถานระบุว่า มากกว่า 70% ของนักศึกษาแพทย์ตามวิทยาลัยการแพทย์ในประเทศนั้นเป็นหญิง แอมเบอร์ ชัมสี ผู้สื่อข่าวบีบีซีรายงานว่า นักศึกษาหญิงยังมีผลการเรียนที่ดีกว่านักศึกษาชายด้วย แต่หลายคนพอจบแล้ว ไม่ได้ทำงานเป็นแพทย์ตามที่ได้ร่ำเรียนมา โดยขณะนี้มีแพทย์หญิงขึ้นทะเบียนทำงานจริงๆ เพียง 23% จนล่าสุดทางแพทยสภาฯ เสนอให้จำกัดจำนวนการรับนักศึกษาแพทย์ที่เป็นหญิง
ทั้งนี้ เพราะการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าเรียนต่อในวิทยาลัยการแพทย์นั้น มีการแข่งขันกันสูงมาก ที่วิทยาลัยแห่งหนึ่งมีผู้สมัครถึง 10,000 คน ขณะที่ทางวิทยาลัยเปิดรับได้เพียง 100 คน ส่วนวิทยาลัยชั้นนำชื่อดัง นักเรียนต้องทำคะแนนให้ได้ในขั้น 90% หรือสูงกว่านั้น ถ้าไม่เช่นนั้นก็เลิกหวังไปเลยว่าทางวิทยาลัยจะพิจารณาใบสมัคร ผู้สื่อข่าวชี้ว่า การที่นักศึกษาหญิงสอบเข้าได้ แต่หลังเรียนจบออกมากลับลงเอยด้วยการเป็นภรรยาของใครสักคน ส่งผลกระทบหนักต่อระบบบริการสาธารณสุขของปากีสถาน ที่ยังถูกจัดว่าเป็นประเทศยากจน ทั้งนี้รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณหลายล้านรูปีอุดหนุนค่าเล่าเรียนให้กับนักศึกษา แต่ก็ยังมีปัญหาขาดแคลนแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตามชนบท ที่ผู้ป่วยหญิงต้องการให้แพทย์หญิงเป็นผู้ตรวจร่างกายมากกว่า
นักศึกษาแพทย์ชายคนหนึ่งให้เหตุผลว่า ที่นักศึกษาแพทย์หญิงมีผลการเรียนดีกว่านั้น เป็นเพราะว่านักศึกษาหญิงเอาแต่ท่องตำราอยู่ที่บ้านหรือตามห้องสมุด ขณะที่นักศึกษาชายได้มีโอกาสออกไปเฮฮากับเพื่อนฝูง ผู้สื่อข่าวชี้ว่าอีกนัยหนึ่งอาจมองได้ว่า ความสำเร็จของนักศึกษาแพทย์หญิงไม่ได้มาจากตัวนักศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่มองให้ลึกลงไป เป็นผลมาจากสภาพสังคมและวัฒนธรรมในปากีสถานที่สั่งสอนกันมาว่า ลูกผู้หญิงต้องอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน
ดร. จาเว็ด อัคราม รองอธิการบดีวิทยาลัยการแพทย์ชื่อดังแห่งหนึ่งชี้ว่า นักศึกษาหญิงสนอกสนใจเรื่องการเรียนมากกว่านักศึกษาชายและมีผลการเรียนดีกว่า แต่หลายคนลงเอยด้วยการแต่งงานไปเป็นแม่บ้าน มากกว่าที่จะเลือกเป็นแพทย์ เขาบอกว่าสำหรับนักศึกษาหญิง พอเรียนจบได้เป็นแพทย์แล้ว ก็มีโอกาสสูงที่จะได้แต่งงาน
ในทางส่วนตัวนั้น แพทย์ทั้งหญิงและชายต่างบอกว่า ปริญญาแพทยศาสตร์เปรียบเสมือนใบเบิกทางให้ได้แต่งงาน ผู้สื่อข่าวได้ไปคุยกับบริษัทหาคู่แห่งหนึ่งที่กิจการเฟื่องฟูมาก จนต้องเปิดสาขาแห่งที่สองในกรุงอิสลามาบัด โดยนายคำราน อาเหม็ด เจ้าของบริษัทบอกว่า ลูกค้าของเขาเป็นผู้หญิงที่เป็นแม่และมาหาลูกสะใภ้ให้ลูกชาย แถมยังชอบเจาะจงด้วยว่าต้องการลูกสะใภ้ที่เป็นหมอ เขาชี้ว่า “เวลาออกงานสังคม ครอบครัวจะมีหน้ามีตามาก ที่จะแนะนำให้คนรู้ว่า ได้ลูกสะใภ้หรือลูกชายมีภรรยาเป็นหมอ และถ้าหมอที่เพิ่งจบใหม่ ๆ มีหน้าตาดีด้วยละก้อ ทางบริษัทหาคู่ให้ได้สบายมาก”
ดร. ไชยสตา ไฟซาล หนึ่งในแพทย์ประจำแพทยสภาฯ ได้ทำงานวิจัยเรื่องนี้ จนทำให้ทางแพทยสภาฯ เสนอให้จำกัดจำนวนนักศึกษาหญิงที่จะเข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยการแพทย์ ผู้สื่อข่าวบอกว่าตอนที่มีข่าวเรื่องนี้ออกมาก มีคนออกมาวิจารณ์กันมาก แต่ทางแพทยสภาฯ ยืนกรานว่า นี่เป็นทางออกเพียงทางเดียวเท่านั้น ทั้งยังชี้ว่าไม่ใช่เป็นเรื่องโควตาหรือการจำกัดจำนวน แต่เป็นการจัดสัดส่วนนักศึกษาแพทย์หญิงและชายให้มีจำนวนเท่ากันคือฝ่ายละ 50% ดร. ไฟซาลย้ำว่า “นี่ไม่ใช่การเลือกปฏิบัติ ผมไม่คิดว่าเราจะปล่อยให้นักเรียนชายที่ไม่เอาใจใส่ต่อการเรียน เข้าไปเรียนในวิทยาลัยการแพทย์ ตอนนี้การขาดแคลนแพทย์เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของระบบบริการสาธารณสุขในปากีสถาน”
อย่างไรก็ตามนายชาห์ซาด อัคบาร์ ทนายความนักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชน ค้านแนวคิดของแพทยสภาฯ เต็มตัว เขาชี้ว่า “ผู้หญิงถูกเลือกปฏิบัติ เพราะฉลาดและเก่งกว่า” โดยล่าสุด นายอัคบาร์ได้ยื่นฟ้องศาลให้ตัดสินเรื่องการนำระบบโควตามาใช้ เขายังบอกด้วยว่า ระบบดังกล่าวนี้ขัดรัฐธรรมนูญ ทางออกคือรัฐบาลควรที่จะโน้มน้าวให้ผู้หญิงยึดอาชีพแพทย์มากกว่า เช่น สร้างบรรยากาศให้แพทย์หญิงได้ทำงานอย่างสะดวกและคล่องตัว
ด้านนายฟาซี ซาคา คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ ชี้ว่า รัฐบาลเดินมาผิดทาง ทางที่ดีรัฐบาลควรกำหนดกฎกติกาสำหรับผู้ที่จบเป็นแพทย์แล้ว ไม่ใช่สำหรับคนที่จะเข้าเรียนต่อเพื่อเป็นแพทย์ เช่น ให้ผู้ที่เลือกจะไม่เป็นแพทย์ จ่ายเงินก้อนโตชดเชยค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องสูญเสียไปในการฝึกคนเพื่อมาเป็นแพทย์
ที่วิทยาลัยการแพทย์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แววตาของนักศึกษาแพทย์หญิงต่างบ่งชี้ว่าพวกเธอมุ่งมั่นที่จะเป็นแพทย์ให้ได้ แต่พอถามว่า ถ้าให้เลือกระหว่างอาชีพแพทย์กับครอบครัว พวกเธอจะเลือกอะไร มีอย่างน้อย 2 คน ตอบว่า “เลือกที่จะมีครอบครัว”และ “ในวัฒนธรรมของเรา ครอบครัวต้องมาก่อน”
ผู้สื่อข่าวสรุปในตอนท้ายว่า ดูเหมือนว่าทุกฝ่ายวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง เพียงแต่ว่าตอนนี้ยังหาวิธีบำบัดโรคไม่ถูกเท่านั้น และบางทีอาจถึงเวลาแล้วที่จะต้องนำระบบโควตามาใช้กับครอบครัวที่จู้จี้เรื่องมาก ซึ่งคอยแต่จะหาลูกสะใภ้หมอให้ลูกชาย
ภาพประกอบ - ภาพ 1-2 นักศึกษาในวิทยาลัยการแพทย์แห่งหนึ่ง; ภาพ 3 ดร. จาเว็ด อัคราม รองอธิการบดีวิทยาลัยการแพทย์ชื่อดัง ไม่เห็นด้วยกับระบบโควตา เขาย้ำว่านักศึกษาหญิงเรียนหนักและมีผลการเรียนดี; ภาพ 4 นายคำราน อาเหม็ด เจ้าของบริษัทจัดหาคู่




 
Top