การรายงานข่าวเหตุก่อการร้ายของสื่อในฝรั่งเศส ทำให้ชีวิตคนตกอยู่ในอันตรายหรือไม่?
ฮิวจ์ สโคฟิลด์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีรายงานว่า ที่ฝรั่งเศสกำลังมีการถกเถียงกันว่า การรายงานข่าวเหตุก่อการร้ายแบบสด ๆ ของสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ควรจะครอบคลุมเนื้อหาอะไรบ้าง และทำได้เจาะลึกขนาดไหน ทั้งนี้เพราะกำลังมีการฟ้องร้องสื่ออยู่ 2 คดี เรื่องการรายงานในเหตุการณ์โจมตีที่เกิดขึ้นในกรุงปารีสเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
คดีแรก มีผู้ยื่นฟ้อง 6 คน พวกเขาเป็นกลุ่มที่หนีมือปืนและลงมาซ่อนตัวอยู่ในห้องเย็นที่ซูเปอร์มาร์เก็ต พวกเขาอ้างว่าการถ่ายทอดสดอาจชี้เป้าให้นายอาเมดี คูลิบาลี มือปืน รู้ว่าพวกเขาหลบอยู่ที่ไหน
ส่วนคดีที่สอง ลีเลียน เลเป ชายที่แอบอยู่ใต้อ่างล้างจานที่สำนักพิมพ์ชาลี เอ็บโด ที่สองพี่น้องคูอาชิ บุกเข้าไปกราดยิง ชี้ว่าการรายงานของสื่อทำให้ชีวิตของเขาตกอยู่ในอันตราย หากผู้ก่อการร้ายทั้งสองคนได้ยินเข้า ก็อาจจะพยายามตามหาและฆ่าเขาทิ้งเสีย
ผู้สื่อข่าวบอกว่าในทั้งสองคดีนี้ สำนักงานอัยการในกรุงปารีสได้เริ่มพิจารณากลั่นกรองคดีแล้ว และถ้ามีหลักฐานพอ สถานีวิทยุและโทรทัศน์หลายแห่งอาจจะต้องไปขึ้นศาล และนอกจากเรื่องนี้จะเป็นประเด็นทางกฎหมายแล้ว ยังมีประเด็นด้านจรรยาบรรณเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้สื่อหันมาใช้วิธีรายงานสดกันมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ผู้ชมได้รับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ราวกับว่าได้ไปอยู่ในสถานการณ์จริง เช่น เหตุยิงกันในรัฐเวอร์จิเนียเมื่อวันพุธ (26 ส.ค.) แสดงให้เห็นว่าคนร้ายหรือผู้ก่อการร้ายเข้ามาเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการรายงานข่าวของสื่อเป็นประจำ ผู้สื่อข่าวตั้งคำถามว่า การรายงานข่าวแบบนี้ สื่อตกไปเป็นเครื่องมือของผู้ก่อการร้ายหรือคนร้ายด้วยหรือไม่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหตุการณ์ที่สถานการณ์ไม่จบทันที แต่ยืดเยื้อออกไป เช่น กรณีเหตุโจมตีในกรุงปารีส ควรมีมาตรการที่กันไม่ให้สื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารทันทีหรือไม่ และควรให้ตำรวจตรวจสอบเนื้อหาก่อนรายงานหรือไม่ เพราะสื่ออาจให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อคนร้าย หรือว่าสื่อควรงดนำเสนอภาพบางภาพ แม้ว่าได้มีการส่งต่อภาพดังกล่าวกันอย่างแพร่หลายในสื่อสังคมออนไลน์แล้วก็ตาม เนื่องจากเป็นภาพที่ได้มาจากการบันทึกของนักข่าวพลเมืองที่ใช้โทรศัพท์มือถือ
ผู้สื่อข่าวบอกว่าตอนนี้สื่อวิทยุและโทรทัศน์ในฝรั่งเศสต่างรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม ที่ถูกวิจารณ์ถึงการทำหน้าที่ในเหตุการณ์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา พวกเขาถูกหน่วยงานที่กำกับดูแลสื่อส่งใบเตือนอย่างเป็นทางการหลายประเด็น เช่น มีการรายงานที่เปิดเผยถึงที่ซ่อนตัวของตัวประกัน สื่อบางเจ้านำเสนอภาพที่สะเทือนใจ รายงานเหตุยิงกันในตอนแรกที่สำนักพิมพ์ชาลี เอ็บโดของสื่อบางเจ้า อาจทำให้สองพี่น้องคูอาชิตัดสินใจยิงกราดสังหารหมู่คนในสำนักพิมพ์ในเวลาต่อมา
เพทรัค คลักแมน ทนายความตัวแทนของผู้ฟ้องร้องทั้ง 6 คน ชี้ว่าจำเป็นต้องพิจารณาถึงกระบวนการตัดสินใจการนำเสนอข่าวของสื่อวิทยุและโทรทัศน์อย่างละเอียดว่าสื่อยึดหลักอะไรในการนำเสนอข่าวด่วนที่กลายเป็นการกระตุ้นให้เกิดอาชญากรรม
อย่างไรก็ตาม สื่อที่ออกอากาศสดในช่วงนั้น 14 แห่ง ได้รวมตัวกันและออกแถลงการณ์แย้งข้อกล่าวหาของหน่วยงานที่กำกับดูแลสื่อ ทั้งยังได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดด้วย
นายเฮร์เว เบรู หัวหน้าสถานีข่าวโทรทัศน์แห่งหนึ่งในฝรั่งเศสชี้ว่า ในเหตุการณ์เมื่อเดือนมกราคม ถ้าสื่อกระแสหลักไม่รายงาน คนก็จะหันไปตามข่าวจากสื่อสังคมออนไลน์หรือทางอินเทอร์เน็ต ที่ไม่มีการควบคุมเนื้อหาข่าวแต่อย่างใด ทางสถานีรายงานสดติดต่อกัน 70 ชั่วโมง และพบว่ามีข้อผิดพลาดเพียง 23 วินาที ตอนที่มีการรายงานว่ายังมีตัวประกันซ่อนตัวอยู่ในห้องเย็น “นั่นเป็นข้อบกพร่องที่เรายอมรับ แต่ข้อมูลอื่นที่เรารายงาน ไม่มีข้อผิดพลาดเลย นอกจากนั้นยังมีข้อมูลอีกมากมายที่เราไม่นำเสนอ เพราะเห็นว่าขัดหลักจรรยาบรรณ เช่น บทสัมภาษณ์ที่เราได้คุยกับมือปืน”
นายคริสตอฟ บิโก ทนายความที่จับเรื่องสื่อชี้ว่า แทบไม่มีโอกาสที่จะมีการสั่งฟ้องในคดีนี้ เพราะมีหลักฐานน้อยมากว่าการรายงานข่าวของสื่อทำให้ชีวิตประชาชนตกอยู่ในอันตราย แต่เรื่องนี้เป็นสัญญาณเตือนให้ควรระวัง ทั้งนี้เพราะสื่อยังคงรายงานสดเหตุก่อการร้าย และพวกเขาอาจจะต้องระมัดระวังมากขึ้นว่า การรายงานอาจทำให้ชีวิตคนตกอยู่ในอันตรายได้
ขณะที่นายเบรูชี้ว่า แนวปฏิบัติที่ทางสถานีได้วางไว้ตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ยังเป็นแนวทางที่ใช้การได้ดี อย่างกรณีเหตุยิงกันในรัฐเวอร์จิเนีย ทีมงานเห็นภาพที่เข้ามาและก็ตัดสินใจไม่นำเสนอ และผู้สื่อข่าวเองก็ทราบดีว่า หากข้อมูลที่จะนำเสนอนั้นมีประเด็นที่อ่อนไหวและล่อแหลม ก็จะต้องให้ฝ่ายที่มีอำนาจตัดสินใจเป็นผู้พิจารณาก่อน “เหตุการณ์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาทำให้เรารู้ว่า ต้องระมัดระวังมากขึ้น เทคโนโลยีช่วยในการรายงานข่าวหลายเรื่อง แต่เราก็มีภาระรับผิดชอบเพิ่มขึ้นด้วยในการตัดสินใจว่าควรนำเสนอหรือไม่”
ภาพประกอบ - แฟ้มภาพ


 
Top