ว่าด้วยคดีกรุงไทย มีประเด็นน่าถกเรื่องการใช้กฎหมายหลายประเด็น
หนึ่ง ทำไมคดีนี้ขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็เพราะ คตส.พยายามจะโยงไปเอาผิดทักษิณ ทั้งที่การตั้งข้อหาเริ่มต้นโดยหม่อมอุ๋ยในรัฐบาลทักษิณ (ปี 47) ทักษิณให้สัมภาษณ์เองว่า หม่อมอุ๋ยมาคุยแล้ว
เรื่องระหว่างทักษิณ-อุ๋ย-วิโรจน์-กฤษดานคร เป็นอย่างไรเราไม่ทราบ (ตำนานมันยาวต้องฟังให้รอบทิศ) แต่ที่แน่ๆ คือ จากคดีที่แบงก์ชาติเล่นงานกรุงไทย พอเกิดรัฐประหาร คตส.ลากทักษิณเข้าไป จากที่จะขึ้น 3 ศาลก็ขึ้นศาลเดียว แต่ผลที่ออกมาเป็นตลกร้าย เมื่อทักษิณหนีไปแล้ว ศาลจำหน่ายคดี แต่คนอื่นยังโดน (แถมศาลท่านยังชี้ ไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอว่า ซูเปอร์บอสคือทักษิณ)
แปลว่าถ้า คตส.ไม่โยงทักกี้เข้ามาซะแต่แรก จำเลยคนอื่นๆ ก็จะได้ขึ้น 3 ศาลปกติ (ทักกี้พาซวยแต๊ๆ)
สอง อ้าวถ้าไม่ผิดจะกลัวอะไร กระบวนพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่เหมือนศาลปกตินะครับ เอาตั้งแต่ต้นเลย กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง "มาตรา ๕ ในการพิจารณาคดีให้ศาลยึดรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นหลักในการพิจารณาและอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร"
พูดง่ายๆ ว่ามาตรานี้กำหนดให้ศาลเริ่มต้นด้วยการยึดข้อกล่าวหาของ ปปช. (ในที่นี้คือ คตส.) เป็นตัวตั้ง แล้วค่อยให้จำเลยเอาพยานหลักฐานมาหักล้าง ซึ่งต่างจากคดีทั่วไป ที่เริ่มต้นเสมอกัน แล้วศาลจะนั่งฟังทั้งสองฝ่าย (ยิ่งลักษณ์ถึงโวยว่าสำนวน ปปช.ไม่รอบด้าน)
นอกจากนี้ ศาลยังมีบทบาทไต่สวนเอง เรียกพยานเลือกพยานมาซักถามเองได้ ต่างจากคดีปกติที่ศาลนั่งฟังอัยการ-ทนายจำเลยหักล้างกัน
สาม ในแง่ข้อกฎหมาย มีปัญหาน่าถกเถียงเรื่องการใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502
แบงก์กรุงไทยมี 2 ด้าน ด้านที่เป็นหน่วยงานรัฐ กับด้านที่เป็นธนาคารพาณิชย์ การบริหารธนาคารพาณิชย์ ถ้าใจไม่ถึง ถ้าเดินตามระเบียบราชการเป๊ะๆ กรุงไทยแม่-ก็เป็นแบงก์ล้านปีอยู่นั่นเอง ต้องไม่ปฏิเสธว่าวิโรจน์ นวลแข เป็นคนปลุกแบงก์กรุงไทยขึ้นมาทันสมัยและมีบทบาทกระตุ้นเศรษฐกิจในยุคทักษิณ อย่างที่ผู้จัดการเขียนนี่ ใช่เลย
ฉะนั้นถ้าเรามองในมุมนายแบงก์ การให้กู้ที่มีที่ดินเป็นหลักประกัน (ราคาปัจจุบัน 12,000 ล้าน) ไม่ใช่เรื่องแปลก โธ่ถัง ที่แม่-ปล่อยกู้กันในยุค 40 หรือยุคไหนๆ ก็เหอะ แย่กว่านี้มีเยอะ ถ้าปล่อยกู้แล้วเป็น NPL มีความผิด ประเทศนี้คงมีคนติดคุกเป็นล้าน (ที ปรส.ยังลอยนวล)
แต่ถ้าเอา พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐมาจับ ก็ผิดเห็นๆ ไม่มีทางรอด ผิดกฎผิดเกณฑ์ที่ตั้งไว้สำหรับหน่วยงานรัฐ
ประเด็นนี้บอกก่อนว่า ไม่เกี่ยวกับเรื่องโกงไม่โกง ติดสินบนกันไหม ทักษิณสั่งจริงไหม นั่นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าพิสูจน์ได้เรื่องนั้นก็คุกแหงๆ (ซึ่งไม่สามารถพิสูจน์) แต่จะบอกว่าถ้าเอากฎหมายหน่วยงานของรัฐมาจับผิดการทำงานตามวิชาชีพนายแบงก์ (ซึ่งต้องกล้าตัดสินใจ กล้าเสี่ยงบางระดับ) สิ่งที่จะเกิดขึ้นภายหน้าคือ เราจะเห็นผู้บริหารแบงก์รัฐทำตัวเป็นเสมียน เซฟตี้เฟิสท์ ปลอดภัยเอาไว้ดีกว่า ล้าหลังช่างมัน
เคสนี้ผมเห็นด้วยกับโชคชัย ธนะพงศ์พิทยา ที่เมนท์ในโพสต์บรรยงว่า เรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ บางทีละเอียดอ่อน เช่นกรณีศาลตัดสินจำคุกหมอโรงพยาบาลอำเภอที่ทำคลอดโดยไม่มีหมอดมยา หลังตัดสิน หมอโรงพยาบาลอำเภอเกือบทั้งประเทศเลิกผ่าตัด ส่งต่อให้ไปผ่าที่โรงพยาบาลจังหวัดหมด
คดีนี้เท่าที่จำได้ไม่ถึงกับคุก ดูเหมือนรอลงอาญา ผิดฐานประมาททำให้คนตาย คือถ้าเราเอากฎหมายอาญาจับโดดๆ มันก็ใช่ แต่มองในมุมวิชาชีพ หมอผ่าตัดคนไข้ก็ต้องกล้าเสี่ยง คำว่าเสี่ยงแปลว่าคุณพลาดได้ ไม่เคยมีใครไม่ทำผิดพลาด แต่ความผิดพลาดในวิชาชีพหมอคือความตาย แน่ละในมุมคนไข้เราต้องการให้หมอรับผิดชอบ ขอโทษ ชดใช้ ฯลฯ แต่ในมุมหมอ พอโดนความผิดอาญาประมาททำให้คนตาย ก็ฉิบหายสิ ห้องผ่าตัดตาม รพ.ชุมชนร้างไปเลย

 
Top