นักวิชาการวิพากษ์หลากมุมร่างรัฐธรรมนูญใหม่ บางส่วนเห็นว่าไม่นำไปสู่ภาวะประชาธิปไตย
วงเสวนาวิชาการที่เว็บไซต์ประชามติจัดขึ้นเมื่อวานนี้ มีข้อสังเกตจากนักวิชาการซึ่งส่วนใหญ่เห็นไปในทางเดียวกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะไม่นำไปสู่ภาวะประชาธิปไตย ขณะที่มีการบัญญัติรับรองเรื่องสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่หมวดหมู่เนื้อหายังกระจัดกระจาย นักนิติศาสตร์ชี้เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้สะท้อนว่าน่าจะบังคับใช้ชั่วคราวในระยะเปลี่ยนผ่านเท่านั้น
โดย รศ.ดร. โคทม อารียา จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มีการจัดตั้งสมัชชาคุณธรรม ในฉบับนี้ได้ยกเลิกไปและมีการปรับปรุงหมวดสิทธิเสรีภาพได้ครอบคลุมรอบด้านมากขึ้น แต่ข้อที่ต้องติดตามคือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้จำกัดอำนาจขององค์กรที่มาจากการเลือกตั้งโดยองค์กรที่มีอำนาจในการควบคุมตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง “คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) นั้น เป็นส่วนที่เป็นปัญหามาก มีบทบัญญัติที่ผูกมัดว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และแนวทางที่กำหนดโดย คปป.”
ข้อสังเกตนี้เป็นไปในแนวทางเดียวกับอธึกกิต แสวงสุข หรือ ใบตองแห้ง คอลัมนิสต์ด้านการเมืองซึ่งเขาเห็นว่าอุปสรรคสำคัญของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคือจะถูกตรวจสอบโดยองค์กรที่อยู่เหนือและมาจากการแต่งตั้ง คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ
"ผมไม่คิดว่ามันจะมีประชาธิปไตยอีก" ใบตองแห้งกล่าว
ด้านปูนเทพ ศิรินุพงษ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ต้องการใช้ร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นรัฐธรรมนูญถาวร แต่ต้องการให้มีกลไกพิเศษในช่วงเวลา 5 ปี ต่อจากนี้
“ผมมองว่านี่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญถาวร มีเรื่องกำหนดเวลา 5 ปีอยู่และไม่คิดว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย คนร่างฯ ต้องการใช้อย่างมากแค่ห้าปี ภายในห้าปีนี้มีสถานการณ์ที่ไม่มีใครรู้และต้องคุมไว้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันจึงเป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ภาคต่อไปอีกห้าปี”
นายศราวุฒิ ประทุมราช สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เห็นว่าบทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพค่อนข้างสับสน บัญญัติแยกไว้ถึงสี่-ห้าประเด็น ที่สำคัญคือแยกประเด็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ออกจากประเด็นสิทธิมนุษยชน ทั้งที่จริงแล้วเวลาพูดถึงสิทธิมนุษยชนนั้นไม่แยกออกจากเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่าแม้จะมีการบัญญัติที่ค่อนข้างละเอียดหลายมาตราเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ควรเพิ่มเรื่องการห้ามซ้อมทรมาน การบังคับสูญหาย การลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมเรื่องนี้ยังไม่มีในรัฐธรรมนูญฉบับนี้
และอีกประเด็นคือหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ควรกำหนดให้ชัดเจนว่าคุ้มครองบุคคลหรือคุ้มครองตำแหน่ง เพื่อป้องกันการใช้กฎหมายที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย
นายชลัท ประเทืองรัตนา นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้าฯ ชี้ว่าในส่วนของกลไกปกป้องสิทธินั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แยกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนออกจากผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งเห็นว่าเป็นแนวทางที่ควรจะเป็น แต่ในแง่ปฏิบัติก็ยังไม่แน่ใจว่าจะซ้ำซ้อนหรือไม่ และเห็นว่าเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปในร่างรัฐธรรมนูญล้วนเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายตั้งความหวังมายาวนานแล้ว แต่ในหลายเรื่อง ก็ต้องรอดูร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งจะกำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนขึ้นต่อไป

 
Top