สันติภาพภาคใต้: เสียงจากคนในพื้นที่หลังเปิดตัวกลุ่มมารา ปาตานี เชื่อมั่นว่าการพูดคุยจะเดินหน้า แต่ต้องการเห็นสองฝ่ายแสดงความจริงใจและเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม
นักกิจกรรมเพื่อสังคมในสามจังหวัดภาคใต้ชี้การรวมกลุ่มของฝ่ายขบวนการเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่บางส่วนระบุยังมีปัจจัยที่ทำให้ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการพูดคุยไม่เต็มร้อยโดยเฉพาะเงื่อนไขความเป็นรัฐบาลทหาร บ้างเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายยอมรับเงื่อนไขระหว่างกันเพื่อเดินหน้าให้ได้ ขณะที่กลุ่มคนพุทธไม่ปฏิเสธหากมีคำชวนจากมารา ปาตานีให้ไปพบ อีกด้านหลายคนเริ่มมีข้อเสนอเรื่องให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม
หลังจากที่มีการพูดคุยระหว่างทีมรัฐบาลไทยกับกลุ่มมารา ปาตานีเมื่อ 25 ส.ค.ที่ผ่านมาเป็นหนที่สาม และต่อมาฝ่ายผู้เห็นต่างเปิดตัวกลุ่มมารา ปาตานีเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว บีบีซีไทยได้สัมภาษณ์นักกิจกรรมหลายรายในพื้นที่และพบว่าส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นมากขึ้นในกระบวนการพูดคุย
ไฟซอล ดาโอ๊ะ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานคริทร์ ปัตตานีชี้ว่า กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพภาคใต้มีโอกาสอันดีในอันที่จะเดินหน้าเนื่องจากเวลานี้ทั้งสองฝ่ายที่เข้าร่วมในการพูดคุยพอจะมีประสบการณ์มาบ้างแล้วจากการพูดคุยกันก่อนหน้านี้ในช่วงของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เห็นได้ชัดว่าทั้งสองฝ่ายต่างระมัดระวังมากขึ้น การเคลื่อนไหวดูมีสติมากกว่าเดิม
นัจมุดดีน อูมา อดีตนักการเมืองจากนราธิวาสชี้ว่า การรวมตัวกันของกลุ่มมารา ปาตานีต้องนับว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ นับว่าเป็นพัฒนาการที่ดีกว่าที่เคยมีมา กลุ่มมีโครงสร้างชัดเจน เขาเตือนว่าทีมทำงานเพื่อสันติภาพของสองฝ่ายต้องอดทน และข้อจำกัดสำคัญในเวลานี้อยู่ที่ฝ่ายไทยที่มีแรงเสียดทานค่อนข้างมากจากภายในเพราะมีผู้ไม่เห็นด้วยจำนวนมาก ซึ่งทำให้เกิดความไม่มั่นใจอยู่บ้างว่าในเรื่องที่ว่า จะมีการดำเนินการจริงจังในทางปฎิบัติเพียงใด ทั้งนี้เขากล่าวว่า การปล่อยตัวสะมะแอ ท่าน้ำให้พ้นโทษก็ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการสร้างความเชื่อมั่นและพูดได้ว่ารัฐบาลมีความพยายาม แต่อาจจะต้องทำมากขึ้นเพื่อส่งสัญญาณให้ประชาชนสนับสนุนจริงจัง พร้อมกันนั้นเขาเสนอว่า ภาคประชาชนควรจะมีการคัดเลือกตัวแทนในอันที่จะเข้าร่วมหรือมีส่วนร่วมในการพูดคุย ไม่ใช่ปล่อยให้รัฐบาลและกลุ่มผู้เห็นต่างพูดคุยตกลงกันเพียงลำพังสองฝ่าย
ข้าราชการเกษียณแล้วอีกรายหนึ่งที่ไม่ขอออกชื่อระบุว่า อยากเห็นประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการพูดคุยแต่ไม่ควรถึงขั้นต้องเลือกตัวแทนเข้าไปร่วมนำเสนอข้อคิดเห็น เพราะที่ผ่านมาประชาชนอยู่ในสถานะผู้ถูกกระทำจากทั้งสองฝ่าย การนำเสนอความเห็นหรือแสดงท่าทีชัดเจนอาจถูกตีความเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและจะยิ่งทำให้เกิดอันตรายเพราะคู่ความขัดแย้งจะไม่พอใจ สิ่งที่ควรทำคือให้มีตัวแทนประชาชนเข้าร่วมนั่งรับฟังแล้วนำประเด็นต่างๆกลับมาบอกเล่าต่อกลุ่มเพื่อให้ได้รับรู้ข้อมูลและร่วมผลักดันการพูดคุย
“คนในสามจังหวัดต้องมีส่วนร่วมและรับรู้การพูดคุย พวกเราคือคนที่สูญเสีย ถ้าไปถามคนที่อื่นก็จะบอกว่าไม่เห็นด้วยกับการคุยเพราะกลัวอย่างเดียวว่าจะสูญเสียดินแดน แต่คนที่ตายคือคนในพื้นที่ไม่ว่าพุทธหรือมุสลิม เราคือคนที่เสียลูกเดียว”
นอกจากนี้อีกเรื่องนี้ที่ควรจะทำคือ ทั้งสองฝ่ายควรจัดตั้งกลไกร่วมกันเพื่อตรวจสอบเหตุร้ายต่างๆ เนื่องจากที่ผ่านมาทั้งฝ่ายขบวนการและรัฐบาลมักจะโทษกันไปมาว่าอีกฝ่ายเป็นผู้ลงมือ ในขณะที่ประชาชนคือเหยื่อของความรุนแรงไม่มีหนทางในอันที่จะปกป้องตัวเองได้
ลม้าย มานะการ จากเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพบอกว่าตนเห็นด้วยอยากให้มีการพูดคุยกันมาโดยตลอด แต่ในการพูดคุยแต่ละฝ่ายควรจะต้องเคารพศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน คือมีจุดยืนแต่ไม่ควรมีความรู้สึกว่ามีอำนาจเหนืออีกฝ่ายหนึ่ง “อย่าไปคิดว่าฉันจะชนะ คนที่ชนะควรจะเป็นประชาชนในพื้นที่” เพราะผลลัพท์ที่อยากเห็นคือไม่มีประชาชนเสียชีวิต นอกจากนั้นก็เห็นว่าควรจะมีการตกลงกันในเรื่องการดูแลความปลอดภัยประชาชน โดยเรียกร้องให้มีการดำเนินการก่อนการพูดคุย “ถ้าปรามได้ก็ปรามกันก่อน แม้จะไม่มีข้อตกลงอย่างชัดเจน เมื่อไหร่ถ้ามีข้อตกลงก็อยากจะให้มีเรื่องนี้บรรจุไว้" กับคำถามที่ว่ากลุ่มมารา ปาตานีเปิดเผยท่าทีเรื่องคนพุทธหรือคนเชื้อสายจีนที่อยู่ในพื้นที่ว่ากลุ่มต้องการทำงานเพื่อคนกลุ่มนี้ด้วยและถือว่าเป็นคนดั้งเดิมเหมือนกันพร้อมทั้งอยากพบปะ ตัวแทนเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพระบุว่ากลุ่มคนพุทธในพื้นที่เองก็ยินดี
“เราได้ยินมาสองครั้งแล้วก็คิดว่าเขาจะทำตามนั้น คิดว่าเขาทำการบ้านกันมา แม้ว่าจะไม่ได้รู้อะไรมากมายนักแต่พูดแค่นี้ก็ถือว่าได้ใจเรา การที่มีการพูดถึงเรา ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ พวกเราคนใดคนหนึ่งในพื้นที่ถ้ามีโอกาสได้พบ แค่ได้รู้จักกัน ก็คิดว่าเรายินดีจะไปพบ ภาษาบ้านเราเรียกไปกินน้ำชากันสักครั้ง คนจำนวนหนึ่งยินดีที่จะพบกัน ในฐานะมนุษย์ด้วยกันและอย่างเท่าเทียมกัน”
ส่วนโซรยา จามจุรี แห่งเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพชายแดนใต้บอกว่าพัฒนาการหลังสุดทำให้รู้สึกมั่นใจเรื่องการพูดคุยพอสมควรเพราะดูเหมือนจะมีสิ่งใหม่ๆ เช่นฝ่ายขบวนการที่เดิมมีหลายกลุ่มกระจายกันออกไป จากเดิมที่เห็นแต่ภาพของบีอาร์เอ็น แต่ตอนนี้มีการรวบรวมกันเป็นทีมโดยมีบีอาร์เอ็นนำ ทำให้มีมิติใหม่ในนามของกลุ่มมารา ปาตานี และดูจะมีความเป็นเอกภาพกันมากขึ้น ขณะที่ฝ่ายไทยเองก็มีความก้าวหน้า เห็นกลไกและระบบที่จัดวางขึ้นมารองรับการพูดคุยที่ชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิมและยังมีแผนที่หรือโรดแมปของกระบวนการสันติภาพด้วย นอกจากนั้นก็มีนโยบายรองรับในเรื่องนี้เปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยกันได้ อย่างไรก็ตามโซรยาบอกว่าสิ่งที่ยังติดขัดคือเรื่องที่แต่ละฝ่ายมีเงื่อนไขฝ่ายละสามข้อให้อีกฝ่ายหนึ่งทำตาม ซึ่งเรื่องนี้อยากเห็นทั้งสองฝ่ายนำมาพิจารณาตอบสนอง เพราะเงื่อนไขที่เสนอกันดูไม่ได้สูงมากจนทำไม่ได้
“ถ้าพอจะยอมรับกันได้เราก็อยากจะเสนอให้ยอมรับเงื่อนไขซึ่งกันและกันไปเถอะจะได้เดินหน้าต่อไปไม่เช่นนั้นจะมีการตั้งแง่กันไปและจะเป็นลักษณธที่ขบวนการบอกว่า คุยกันไปได้เรื่อยๆ เราเองก็ไม่อยากเห็นการคุยกันเหมือนไม่มีอะไรจะทำดีไปกว่านั้น”
แต่ก็มีผู้ที่แสดงความไม่เชื่อมั่น ตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาชี้ถึงสิ่งที่น่าจะเป็นอุปสรรคว่า เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเป็นรัฐบาลทหารมากกว่าเรื่องของตัวกระบวนการพูดคุย เขาเห็นว่าในการเมืองไทยทหารเป็นตัวกำหนดการเปลี่ยนแปลงที่หลายอย่างสวนทางกับความต้องการของประชาชน และสิ่งที่ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ต้องการก็ไม่ผิดแผกไปจากสิ่งที่คนอีกจำนวนมากต้องการในแนวทางของประชาธิปไตย เพียงแต่เรื่องที่เรียกร้องเป็นเรื่องของสิทธิทางชนชาติ ข้อเรียกร้องของฝ่ายขบวนการโดยเนื้อหาจึงไม่สอดคล้องกับเจตนารมย์ของรัฐบาลทหาร เกรงว่าการพูดคุยจะไม่ทำให้ได้อะไรขึ้นมา เพราะในเวลานี้แม้แต่การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็ยังยากที่จะทำได้ นอกจากนี้เขาชี้ว่า สถานะของรัฐบาลเจอคำถาม
“ผมไม่เชื่อมั่น ไม่ใช่ไม่เชื่อมั่นตัวกระบวนการ แต่ผมไม่เชื่อมั่นตัวสถานการณ์ทางการเมืองที่มันไม่นิ่ง และผมไม่เชื่อว่าทหารไทยมีความเป็นเอกภาพ มันมีความขัดแย้งที่แสดงว่าอาจมีการปฏิวัติซ้อน จึงสงสัยว่าอะไรเป็นตัวแปรที่ทำให้มารา ปาตานี มาคุยกับรัฐบาลทหาร บีอาร์เอ็นเองก็ไม่ได้มีเอกภาพทั้งหมด ผมไม่ค่อยเชื่อโดยสนิทใจว่าพวกเขา (บีอาร์เอ็นที่เข้าร่วมกลุ่มมารา ปาตานี)ได้ฉันทานุมัติ และหนนี้การที่คนที่มีส่วนเกียวข้องกับการพูดคุยมีหมายจับมันทำให้ฝ่ายความมั่นคงสามารถใช้หมายจับนั้นต่อรองได้ ทีมงานพูดคุยของมารา ปาตานีสามารถจะเข้าโครงการนำคนกลับบ้านได้ทุกเมื่อ”
อัญชนา หีมมีหน๊ะ แห่งกลุ่มด้วยใจซึ่งทำงานในเรื่องการดูแลสิทธิเด็กและผู้หญิงบอกว่า ความคาดหวังของตนคืออยากเห็นการพูดคุยหนนี้นำไปสู่การหยุดยิง พร้อมกับระบุว่าทั้งรัฐบาลและกลุ่มมารา ปาตานีควรแสดงความจริงใจให้ประชาขนได้เห็น อัญชนาชี้กลุ่มมารา ปาตานีควรจะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ากลุ่มสามารถคุมพื้นที่ได้ และการที่บอกว่าไม่มีนโยบายทำร้ายคนบริสุทธิ์ ก็ต้องแสดงให้เห็นจริงๆ ว่าไม่ละเมิดทั้งพุทธและมุสลิม อีกด้านหนึ่งเธอบอกว่ารัฐบาลไทยก็ควรแสดงเจตนารมย์ให้เห็นชัดเจนว่าต้องการจะพูดคุยและแก้ไขปัญหาความไม่สงบอย่างจริงจังและมีการกระทำที่สอดคล้องกับสิ่งที่พูด
“ไม่ใช่ไปบอกต่างประเทศอย่างหนึ่ง แต่ในประเทศกลับกระทำอีกอย่างหนึ่ง รัฐบาลเองต้องหยุดการกระทำที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง สร้างความรู้สึกต่อต้านเพิ่มเติม” อัญชนาระบุว่า แม้แต่การสื่อสารในพื้นที่เรื่องของการละเมิดสิทธิก็ยังมีปัญหาว่าทำได้น้อย เสียงประชาชนในเรื่องนี้ถูกกลบ
อัญชนาระบุว่าในส่วนของประชาชนเองจำเป็นต้องมีกลไกให้สามารถแสดงออกหรือสื่อสารได้โดยไม่มีการครอบงำ
ในภาพ ซ้ายคือ นัจมุดดีน อูมา ส่วนขวาคือ ตูแวดานียา ตูแวแมแง

 
Top