0

ผลการวิจัยพบ นาข้าวกับปาล์มน้ำมันรุกป่าชายเลนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างหนัก
รายงานการศึกษาชี้ว่าภัยคุกคามของการขยายตัวของการทำนาข้าวและสวนปาล์มน้ำมันที่มีต่อป่าชายเลนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับการประเมินต่ำกว่าความเป็นจริง โดยกิจกรรมทั้งสองนี้เป็นสาเหตุของการสูญเสียพื้นที่ป่าชายเลนถึงร้อยละ 38 ระหว่างปี 2543 ถึง 2555
แดเนียล ริชาร์ดส์ หนึ่งในผู้เขียนรายงานจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ระบุว่า "เท่าที่ผ่านมาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมักจะถูกมองว่าเป็นสาเหตุสำคัญของการทำลายป่าชายเลน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยและฟิลิปปินส์” และบอกว่าการศึกษาก่อนหน้านี้ในแปดประเทศทั่วโลกระหว่างทศวรรษ 1970 ถึงต้นทศวรรษ 2000 พบว่าร้อยละ 54 ของพื้นที่ป่าชายเลนที่ถูกทำลายถูกแทนที่ด้วยบ่อเลี้ยงปลาหรือกุ้ง
แต่การศึกษาของพวกเขาพบว่า "การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำยังคงเป็นสาเหตุสำคัญแต่เราก็ประหลาดใจว่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างปี 2543 ถึง 2555 มีพื้นที่ป่าชายเลนเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่ถูกแทนที่ด้วยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผลกระทบจากสาเหตุอื่นเช่น การปลูกข้าวและปาล์มน้ำมันมีมากกว่าที่คาด”
ป่าชายเลนเป็นป่าชนิดไม่ผลัดใบทนต่อน้ำเค็มและเติบโตตามแนวชายฝั่ง แม่น้ำและปากน้ำ พบในประเทศเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนมากกว่า 120 ประเทศ มีการค้นพบว่าระบบรากของป่าชายเลนมีคุณสมบัติสลายพลังกัดกร่อนชายฝั่งจากคลื่นได้
ดร.ริชาร์ดส์ระบุว่า “พื้นที่ป่าชายเลนเกือบ 25,000 เฮ็คตาร์ (156,250 ไร่) ของเมียนมาถูกเปลี่ยนเป็นนาข้าวระหว่างปี 2543 ถึง 2555" และเสริมว่าแม้ว่าจะมีการศึกษาสองสามชิ้นก่อนหน้านี้ที่แสดงให้เห็นว่าการปลูกปาล์มน้ำมันเป็นสาเหตุสำคัญของการทำลายพื้นที่ป่าชายเลน แต่การศึกษาเหล่านั้นก็ไม่ทราบถึงขนาดของการทำลาย และเผยว่า "ร้อยละ 16 ของพื้นที่ป่าชายเลนที่ถูกทำลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกแทนที่ด้วยสวนปาล์มน้ำมันในช่วงระยะเวลาการศึกษาของเรา”
"เรามักจะนึกถึงปาล์มน้ำมันว่าเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อป่าเขตร้อนบนบกแต่การศึกษาของเราพบว่าความต้องการน้ำมันปาล์มกำลังก่อให้เกิดการทำลายป่าชายเลนด้วยเช่นกัน”
ดร.ริชาร์ดส์กับเพื่อนร่วมร่วมงาน แดเนียล ฟรีส ใช้กูเกิล เอิร์ธในการติดตามเฝ้าดูว่ามีการใช้ที่ดินอย่างไรหลังจากป่าชายเลนถูกทำลาย “เราติดตามดูผืนป่าชายเลนที่ถูกทำลายมากกว่า 3,000 แห่งและบันทึกว่าผืนไหนถูกใช้ทำอะไร”
เขาเตือนว่าป่าชายเลนในภูมิภาคนี้กำลังถูกคุกคามอย่างหนัก "การศึกษาของเราสนใจช่วงเวลาไม่นานมานี้แต่ป่าชายเลนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ถูกทำลายอย่างกว้างขวางมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ การศึกษาก่อนหน้านี้ระบุว่าป่าชายเลนดั้งเดิมของสิงคโปร์ได้หายไปราวร้อยละ 90”
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีป่าชายเลนราวหนึ่งในสามของทั้งโลก นักวิจัยบอกว่าป่าชายเลนมีความสำคัญต่อชาวบ้านเนื่องจากเป็นแหล่งอาหารและฟืนช่วยป้องกันการกัดกร่อนของชายฝั่ง และยังเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนปริมาณมหาศาล จึงมีบทบาทสำคัญในการควบคุมปริมาณคาร์บอนในบรรยากาศ
ดร.ริชาร์ดส์บอกว่าความสำคัญของป่าชายเลนกำลังได้รับความเข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็เป็นกระบวนการที่ใช้เวลานาน “เป็นเรื่องที่น่ามีกำลังใจที่การศึกษาของเราพบอัตราการทำลายป่าชายเลนในระดับต่ำในเวียดนาม ฟิลิปปินส์และบรูไน และส่วนหนึ่งเป็นผลจากการคุ้มครองป่าชายเลนที่เข้มแข็งกว่าในประเทศเหล่านั้น”
เขาบอกว่ามีโครงการริเริ่มหลายโครงการในการฟื้นฟูป่าชายเลนในบางประเทศ เช่น ในประเทศไทยและอินโดนีเซีย มีโครงการที่ดำเนินการร่วมกับรัฐบาลและชุมชนท้องถิ่นในการคุ้มครองและฟื้นฟูป่าชายเลน


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top