0


เศรษฐกิจช่วงถัดจากนี้ไป จะโตด้วยการกระตุ้นและลงทุนภาครัฐ ขณะที่ภาคเกษตรรายได้ลดลงตามตลาดโลก สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือความเหลื่อมล้ำอย่างมาก+รัฐมีอำนาจออกมาตรการที่ทำให้บางกลุ่มได้ประโยชน์ บางกลุ่มสูญเสีย
ใช่เลย ยางพาราเป็นไปตามตลาดโลก แต่ชาวสวนก็มีสิทธิตั้งคำถาม ทำไมรัฐบาลยอมเสียรายได้ "ช็อปช่วยชาติ" ให้ประโยชน์ธุรกิจค้าปลีก+คนชั้นกลางระดับบน ทำไมนิรโทษภาษีให้ SME (คนเสียภาษีกลายเป็นไอ้งั่ง) ทำไมให้หักภาษีกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ (พฤกษาเรียลเอสเตทจ่ายโบนัส 20 เดือน ขณะที่สหภาพแรงงานซันโคโกเซถูกลดโบนัสเหลือครึ่งเดือน) ซ้ำร้าย ความเป็นรัฐเผด็จการ ยังทำให้ประชาชนคนชั้นล่างไม่สามารถชุมนุมเรียกร้อง ต่อรอง ไม่ว่าราคาพืชผล ค่าแรง สวัสดิการ (ซันโกโคเซชุมนุมที่กระทรวงแรงงานก็โดนขู่ลากคอเข้าคุก) มีความเดือดร้อนต้องไปโน่น "ศูนย์ดำรงธรรม" รายงานตามระบบราชการ
แต่ในทางตรงข้าม "นายทุน" กลับสามารถต่อสายตรง ไปนั่งใน 12 คณะทำงาน "ประชารัฐ" กับรัฐมนตรี เพื่อเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่า กลุ่มทุนจะได้ประโยชน์จากมาตรการเหล่านั้น
ความร่วมมือภาครัฐเอกชนไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ครั้งนี้ไม่ใช่สถานการณ์ปกติไงครับ มันเป็นระบอบอำนาจเบ็ดเสร็จ ที่ประชาชนคนชั้นล่างคนชนบทไม่มีปากเสียง ไม่มีอำนาจต่อรอง เรียกร้องอะไรไม่ได้ อยู่ในภาวะยากลำบาก มีปัญหาปากท้อง คับแค้นตั้งแง่ต่อความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้นทุกวัน แต่กลับเห็น “นายทุน” เข้าไปนั่งเสนอหน้า ขณะที่มาตรการของรัฐก็เอื้อประโยชน์คนชั้นบน คนชั้นกลาง (โดยเฉพาะข้าราชการยิ่งมีความสุข) ฉะนั้น มาคอยดูกันว่าอำนาจบนความเหลื่อมล้ำจะทำให้เกิดอะไร

000000

ใบตองแห้ง

ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 59 เป็นไปตามที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้คือ “ดีขึ้นแน่” แต่รายได้เกษตรกรติดลบ เศรษฐกิจจะดีเป็นบางภาคจากมาตรการกระตุ้นและการลงทุนของรัฐบาล ขณะที่ชาวไร่ชาวนาชาวสวนยางหน้าแห้ง แถมคนงานในบางอุตสาหกรรมก็ถูกเลิกจ้าง ถูกลดโบนัสสวัสดิการ
พูดอีกอย่างคือช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างทางชนชั้นจะกว้างขึ้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็มีอำนาจให้คุณให้โทษมหาศาลจากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการลงทุน ซึ่งทำให้บางกลุ่มได้ประโยชน์ บางกลุ่มสูญเสีย โดยยังไม่พูดถึงการประมูลโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ
แน่ละ รัฐบาลมีอำนาจเบ็ดเสร็จไม่มีใครกล้าคัดค้านวิพากษ์วิจารณ์จึงดำเนินมาตรการต่างๆ ได้รวบรัดฉับไว แต่ก็เป็นดาบสองคมอยู่ในตัว เพราะจะถูกตั้งแง่เรื่องความเปิดเผยโปร่งใสประชาชนไม่มีส่วนร่วม
ยกตัวอย่างง่ายๆ ยางพาราราคาตกต่ำ ถูกละ ชาวสวนยางโทษรัฐบาลไม่ได้เพราะเป็นกลไกตลาดโลก แต่ชาวสวนยางก็มีสิทธิทวงถาม ทำไมรัฐบาลต้องกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำไมรัฐบาลต้องออกแคมเปญ “ช้อปช่วยชาติ” ซึ่งผู้รับประโยชน์โดยตรงคือคนมีรายได้สูงและธุรกิจค้าปลีก
อ้อ แล้วทำไมจะต้องนิรโทษภาษีให้ SME แล้วคนทำมาค้าขายที่เสียภาษีถูกต้องล่ะ กลายเป็นไอ้โง่ใช่ไหม
พูดอย่างนี้ไม่ใช่ไม่เข้าใจด้านดีของมาตรการกระตุ้นต่างๆ แต่ทุกมาตรการมีทั้งด้านดีด้านเสีย ที่สำคัญคือมันทำให้เกิดความรู้สึก “เหลื่อมล้ำ” ในสังคมที่เหลื่อมล้ำสูงอยู่แล้ว และกำลังจะสูงมากขึ้น
ยิ่งกว่านั้น การบริหารประเทศด้วยรัฐบาลทหาร ซึ่งบางคนอาจเห็นว่าดีที่ตัดสินใจรวดเร็วเด็ดขาด ก็หนีไม่พ้นข้อด้อยอย่างน้อย 2 ประการ หนึ่งคือ มองปัญหาด้วยทัศนะข้าราชการ ไม่เข้าใจความรู้สึกของคนเดือดร้อนว่าเป็นประเด็นอ่อนไหว เที่ยวไปสอนชาวนาให้ปลูกหมามุ่ย สอนชาวสวนยางปลูกสตอเบอรี่ กล้วยหอมทอง ซึ่งพูดไปก็ไลฟ์บอย แก้ปัญหาไม่ได้ ทำให้เขาคับแค้นขึ้นเปล่าๆ
สองคือ การปกครองด้วยระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ปิดกั้นเสรีภาพ เท่ากับตัดอำนาจเรียกร้องต่อรองของประชาชนผู้เดือดร้อนกลุ่มต่างๆ ผลักให้ประชาชนต้องไปพึ่งระบบราชการ ที่รายงานตามลำดับชั้น ด้วยทัศนะข้าราชการ
ซ้ำการใช้อำนาจรักษาความสงบก็ยังไปซ้ำเติมผู้เดือดร้อน เช่นกรณีสหภาพแรงงานซันโคโกเซ ซึ่งถูกนายจ้างญี่ปุ่นห้ามเข้าทำงานจากการเรียกร้องโบนัส พอมาชุมนุมที่กระทรวงแรงงาน ก็ถูกบังคับให้สลายไม่เช่นนั้นจะถูกจับฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะและยึดสถานที่ราชการ
ท่ามกลางปัญหาปากท้อง ประชาชนถูกห้ามเคลื่อนไหวเรียกร้อง รัฐบาลบอกว่าจะลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาให้ด้วยโครงการ “ประชารัฐ” ซึ่งตั้งคณะทำงานร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน “เจ้าสัว” ประกบรัฐมนตรี 12 คณะ (อีกด้านหนึ่งบอกว่าจะร่วมกับภาคประชาสังคม แต่ก็ใช้ ม.44 ปลดบอร์ด สสส.ซะแล้ว)
ความร่วมมือภาครัฐเอกชนไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ครั้งนี้ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ เป็นการปกครองระบอบที่รัฐบาลมีอำนาจตัดสินใจเบ็ดเสร็จ ประชาชนโดยเฉพาะคนชั้นล่างคนชนบทไม่มีปากเสียง ไม่มีอำนาจต่อรอง เรียกร้องอะไรไม่ได้ อยู่ในภาวะยากลำบาก มีปัญหาปากท้อง คับแค้นตั้งแง่ต่อความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้นทุกวัน แต่กลับเห็น “นายทุน” ต่อสายตรง เข้าไปนั่งออกมาตรการต่างๆ ร่วมกับรัฐบาล กระตุ้นเศรษฐกิจ โดยตัวเองได้ประโยชน์ด้วย
“เจ้าสัว” อาจบอกว่าเข้าไปช่วยชาติ แต่บอกแล้วไงครับ นี่เป็นประเด็นอ่อนไหว กระแสตีกลับเมื่อไหร่ไม่รู้ด้วยนะ

Source :- FB Atukkit Sawangsuk & http://www.kaohoon.com/online/content/view/28547

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top