0



ไช่ อิง-เหวิน ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของไต้หวัน สงบเสงี่ยมแต่แข็งแกร่ง

ด้วยไหล่ที่ค้อมเล็กน้อยและกิริยาท่าทางสงบเสงี่ยม นางสาวไช่ อิง-เหวิน วัย 59 ปี ดูไม่เป็นภัยคุกคามต่อปักกิ่ง แต่เธอเพิ่งชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน และมีความเชื่อมั่นแรงกล้าว่าอนาคตของไต้หวันควรตัดสินโดยคนไต้หวัน ซึ่งเท่ากับเป็นการท้าทายจีนโดยตรง ด้วยจีนยังคงถือว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของตนที่จะต้องรวมกับแผ่นดินใหญ่โดยการใช้กำลังหากจำเป็น

ซินดี ซุย ผู้สื่อข่าวบีบีซีที่กรุงไทเปรายงานว่า สิ่งที่ทางปักกิ่งจะต้องพยายามไขให้ออกก็คือ ท่าทีของเธอต่อประเด็นเรื่องอธิปไตยของไต้หวันและเธอจะก้าวต่อไปอย่างไร เท่าที่ผ่านมาเธอหลีกเลี่ยงการระบุชัดในเรื่องนี้ และเธอมิได้เป็นปริศนาในสายตาของจีนเท่านั้น แต่ชาวไต้หวันจำนวนมาก ก็มองว่าเธอเป็นพลังลึกลับที่เงียบเชียบ ยากจะคาดเดาได้

นางสาวไช่ อิง-เหวิน เป็นผู้นำหญิงคนแรกของไต้หวัน แต่ไม่เหมือนกับสตรีเอเชียชาติอื่นที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุด เพราะเธอไม่ได้มาจากครอบครัวนักการเมือง หากเป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนทั้งหมด 11 คนของบิดา ซึ่งประกอบธุรกิจซ่อมรถและทำเงินจากการลงทุนในที่ดิน โดยมารดาเธอเป็นภรรยาคนสุดท้ายในจำนวนทั้งสิ้น 4 คนของบิดา

เธอบอกว่าตัวเองเป็นคนที่ชอบเดินข้างกำแพง จะได้ไม่ตกเป็นเป้าสายตา และกล่าวถึงการขึ้นสู่จุดสูงสุดทางการเมืองอย่างรวดเร็วว่าเป็น "ชีวิตบังเอิญ" เธอใช้เวลา 30 ปีแรกในชีวิตไปกับการศึกษา ได้รับปริญญาตรีนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ปริญญาโทนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ ในสหรัฐฯ และปริญญาเอกจากลอนดอนสคูลออฟอิโคโนมิคส์ ในกรุงลอนดอน ก่อนจะเริ่มงานเป็นอาจารย์นิติศาสตร์ ความชำนาญภาษาอังกฤษทำให้เธอถูกเรียกตัวมาเป็นที่ปรึกษากฎหมายในการเจรจาเพื่อเข้าร่วมองค์การการค้าโลกของไต้หวันเมื่อราว 20 ปีที่แล้ว

ในฐานะที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของอดีตประธานาธิบดีหลี่ เติง-ฮุย เธอมีส่วนช่วยร่างหลักการความสัมพันธ์ระดับรัฐต่อรัฐของเขา ซึ่งระบุว่าความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งกับไทเป เป็นความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ทำให้จีนไม่พอใจอย่างยิ่ง แต่ในสมัยประธานาธิบดีคนต่อมา คือนายเฉิน สุยเปี่ยน ซึ่งความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบตกต่ำที่สุดครั้งหนึ่ง นางสาวไช่ในฐานะประธานสภากิจการแผ่นดินใหญ่ ได้หาทางร่วมมือกับจีน และริเริ่มโครงการ "Small Mini Link" เมื่อปี 2544 ซึ่งอนุญาตให้มีการเดินเรือข้ามฟากกับการค้าโดยตรงระหว่างบรรดาเกาะที่อยู่นอกชายฝั่งไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ จากนั้นในปี 2546 เธอได้ผลักดันให้มีการทบทวนกฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์กับจีน ส่งผลให้นักธุรกิจไต้หวันลงทุนบนแผ่นดินใหญ่ได้โดยถูกกฎหมาย

ผู้ที่รู้จักเธอกล่าวว่าเธอเป็นคนยืดหยุ่น รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา แต่กระนั้นก็ไม่มีใครแน่ใจเรื่องท่าทีของเธอในประเด็นเรื่องเอกราชของไต้หวัน เธอไม่ต่อต้านจีน ไม่สนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชอย่างเต็มที่ และไม่เคยพูดว่าสนับสนุนเอกราชของไต้หวัน อย่างไรก็ตาม นางสาวไช่ประกาศชัดเจนว่าเธอให้ความสำคัญต่อประชาธิปไตยของไต้หวันอย่างยิ่ง เธอยอมเข้ากุมบังเหียนพรรคดีพีพี หลังเกิดวิกฤตการณ์ปี 2551 เพราะเชื่อว่าพรรคฝ่ายค้านที่แข็งแกร่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะขาดเสียมิได้สำหรับประชาธิปไตย

มีผู้สังเกตการณ์น้อยคนที่คาดว่าเธอจะผลักดันให้ไต้หวันแยกตัวเป็นเอกราช แต่ถึงแม้จีนและพรรคก๊กมินตั๋งจะกดดันอย่างหนัก เธอก็ไม่ยอมรับที่จีนยืนกรานว่า พื้นฐานความสัมพันธ์ในอนาคตคือข้อตกลงที่บรรลุเมื่อปี 2535 ว่ามีเพียงจีนเดียว อย่างไรก็ตามล่าสุด เธอได้ตีตัวออกห่างจากท่าทีเดิมของเธอและของพรรคที่ไม่ยอมรับข้อตกลงที่ว่านี้ เพราะเธอรู้ดีกว่าใครว่าจีนมีความสำคัญสูงสุด ไต้หวันต้องการข้อตกลงทางเศรษฐกิจกับประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดนี้อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตลาดส่งออกยังคงอยู่ในภาวะผันผว

ในที่สุดแล้ว นางสาวไช่อาจเป็นหุ้นส่วนกับปักกิ่งที่ดีกว่านายหม่า อิง-จิ่ว ประธานาธิบดีคนปัจจุบันที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งก็ได้ แต่หากเธอไม่สามารถทำให้จีนไว้วางใจ วาระการดำรงตำแหน่งของเธอก็อาจเผชิญภาวะชะงักงัน ทางปักกิ่งอาจปรับลดหรือตัดความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ อาจเกิดความตึงเครียดขึ้นอีกครั้ง สร้างความกังวลแก่ประเทศเพื่อนบ้าน และส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งมีกฎหมายผูกมัดให้ต้องช่วยไต้หวันป้องกันตนเอง

หนังสือที่นางสาวไช่เขียนซึ่งเพิ่งตีพิมพ์เมื่อเร็ว ๆ นี้อาจเผยถึงปรัชญาของเธอก็ได้ว่า "เราต้องอดทนมากขึ้น (และทำงาน) อย่างแน่วแน่มั่นคง รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา และถูกต้องแม่นยำเพื่อที่จะบรรลุอุดมการณ์ นี่คือสไตล์ของฉัน"


Loading video....
Posted by บีบีซีไทย - BBC Thai on Saturday, January 16, 2016

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top