0

ราคาน้ำมันจะดิ่งลงกว่านี้หรือไม่ แล้วใครจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด ?
ราคาน้ำมันโลกยังคงดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ทะเลเหนือที่ซื้อขายเมื่อวานนี้ (12 ม.ค.) ตกลงไปอยู่ที่ระดับ 30.43 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ราว 1,100 บาท) ซึ่งราคาที่ตกต่ำในระดับนี้เกิดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อเดือนเม.ย.ปี พ.ศ 2547 แมทธิว เวสต์ ผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจของบีบีซีบอกว่า บรรดานักลงทุนต่างคาดว่า ราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลงอีก ขณะที่นักวิเคราะห์ก็ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันในปีนี้ว่าจะต่ำกว่าระดับ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
นักวิเคราะห์จากบริษัทมอร์แกนสแตนลีย์คาดว่า มีความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันจะดิ่งแตะระดับ 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ราว 720 บาท) หากจีนปรับลดค่าเงินหยวนลงอีก ส่วนธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดประเมินว่า ราคาอาจปรับตัวลดลงถึงระดับ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ราว 360 บาท)
ที่ผ่านมาบริษัทผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ เช่น บีพี, เชลล์, โททาล และเอ็กซอนโมบิล เอาตัวรอดจากภาวะราคาน้ำมันตกต่ำได้ด้วยการตัดลดการลงทุนมูลค่ามหาศาล และปรับลดจำนวนพนักงาน อย่างไรก็ตาม นายเจอเรมี บัทสโตน-คารร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทชาร์ลส์ สแตนลีย์เตือนว่า บรรดาผู้ผลิตน้ำมันเหล่านี้จะเริ่มได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน หากราคาน้ำมันดิ่งลงไปกว่านี้ ขณะที่นายอลัน เกลเดอร์ นักวิเคราะห์ด้านน้ำมันจากบริษัทวู้ด แมคเคนซีชี้ว่า ผู้ผลิตน้ำมันในทะเลเหนือจะได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนเมื่อราคาน้ำมันเคลื่อนไหวที่ระดับ 35 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ราว 1,260 บาท) ซึ่งเป็นระดับที่อยู่ได้แต่จะไม่มีเงินเหลือสำหรับการลงทุนเพิ่มเติม
พอล สตีเวนส์ ศาสตราจารย์กิตติคุณจากมหาวิทยาลัยดันดีบอกว่า ราคาน้ำมันมีแนวโน้วลดลงไปอยู่ที่ระดับ 20-25 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ราว 720 – 900 บาท) เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตน้ำมันส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ สามารถทนต่อราคาน้ำมันในระดับปัจจุบันได้ แต่ผู้ผลิตในหลายประเทศ อาทิ เวเนซุเอลา, แอลจีเรีย และไนจีเรีย อาจไม่สามารถอยู่รอดได้จากราคาน้ำมันในระดับนี้
ศ. สตีเวนส์ ชี้ว่าปัจจุบันเกิดภาวะน้ำมันล้นตลาดทั่วโลก โดยสหรัฐฯ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นประเทศที่มีคลังน้ำมันขนาดใหญ่ที่สุดในโลกนั้น ปัจจุบันไม่มีที่เหลือสำหรับเก็บน้ำมันที่ผลิตออกมาแล้ว และยังมีอีกหลายประเทศที่ประสบปัญหาเดียวกัน พร้อมเตือนว่าอาจเกิดภาวะที่ราคาน้ำมันดิ่งลงอย่างฮวบฮาบจากการซื้อขายน้ำมันอย่างเสรี เป็นครั้งแรกนับแต่ปี พ.ศ.2471 เพราะซาอุดีอาระเบียตัดสินใจไม่ลดกำลังการผลิต โดยเฉพาะในช่วงที่ความขัดแย้งกับอิหร่านทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งรายงานจากบริษัทวู้ด แมคเคนซี ระบุว่าซาอุดีอาระเบียคงไม่ลดปริมาณการผลิตน้ำมัน เพราะไม่ต้องการเปิดโอกาสให้อิหร่านเข้าไปมีส่วนแบ่งในตลาด ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ประกอบกับอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง โดยเฉพาะในจีน และตลาดเกิดใหม่ คงไม่ทำให้ราคาน้ำมับถีบตัวขึ้นในเร็ว ๆ นี้
ภาพประกอบ (แฟ้มภาพ)


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top