0


องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ แถลงวิจารณ์ ป.ป.ช. ฟอกขาวให้เจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุสลายการชุมนุม ปี 2553
องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ แถลงการณ์วิจารณ์โอกาสของรัฐไทยในการพิสูจน์ตัวเองว่ามีกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เลือกข้างและการปรองดองพร่าเลือนไปอีก หลังป.ป.ช. ยกคำร้องถอดถอน และคำร้องกล่าวหา อดีตนายกรัฐมนตรี รองนายกฯ และผู้บัญชาการทหารบก จากกรณีมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตระหว่างการสลายชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค. 53
องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ แถลงถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ยกคำร้องคำวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ยกคำร้องขอให้ถอดถอนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รวมถึงไม่ยอมรับคำวินิจฉัยที่ยกข้อกล่าวหาฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการ สั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในวันที่ 10 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก โดยระบุว่า การวินิจฉัยดังกล่าวได้ “เติมน้ำหนักการหยามหมิ่นต่อความเจ็บปวดของเหยื่อและครอบครัว” ด้วยการ “ฟอกขาว” ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการสลายการชุมนุมดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช. ได้เผยแพร่คำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. ระบุว่าจากหลักฐานที่มีนั้น รับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม กับพวก ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่น โดยเจตนาเล็งเห็นผล และมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป
แบรด อดัม ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียขององค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุในแถลงการณ์ว่าดูเหมือนว่าหน่วยงานของไทยจะยังคงปกป้องกองทัพและนักการเมืองจากกระบวนการยุติธรรม
“นี่คือการเพิ่มน้ำหนักในการหยามหมิ่นต่อความเจ็บปวดของเหยื่อและครอบครัวมากขึ้น เพราะหลังจากผ่านมา 6 ปีแล้วสิ่งที่พวกเขาเห็นก็คือความพยายามอีกครั้งหนึ่งในการจัดการกลบเกลื่อนกับอาชญากรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐและทหารจากหน้าประวัติศาสตร์ของไทย” แบรด อดัมกล่าว
ฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้อ้างถึงรายงานขององค์กรที่เผยแพร่เมื่อเดือน พฤษภาคม 2554 ระบุว่า “กองทัพใช้กำลังในระดับที่มากอย่างเกินความจำเป็นซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการตายและบาดเจ็บจำนวนมากในระหว่างการเผชิญหน้าเมื่อปี 2553 ในบรรดาผู้เสียชีวิตจำนวนมากนั้นประกอบไปด้วย ผู้ชุมนุม อาสาสมัครพยาบาล ผู้สื่อข่าว ช่างภาพข่าวและผู้ที่สัญจรผ่านไปมา ซึ่งเป็นผลส่วนหนึ่งจากการประกาศ “เขตใช้กระสุนจริง” รอบๆ พื้นที่ชุมนุมของ นปช. ซึ่งมีทั้งการใช้นักแม่นปืนและสไนเปอร์”
รายงานฉบับเดียวกันยังระบุว่าฝ่ายผู้ชุมนุมเองมีกลุ่มที่ติดอาวุธที่เรียกว่า “ชายชุดดำ” ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่สังหารเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และพลเรือนด้วย และรายงานยังระบุถึงกรณีที่ผู้นำการชุมนุมบางคนปราศรัยปลุกเร้ายั่วยุรวมถึงการยั่วยุให้มีการเผาและขโมยสิ่งของ
ในแถลงการณ์ดังกล่าว ยังได้เสนอว่ารัฐบาลไทยควรจะให้กรมสอบสวนคดีพิเศษทำการสืบสวนสอบสวนและนำเอาผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการตายและบาดเจ็บในระหว่างการสลายการชุมนุมในปี 2553 เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยทันที “เป็นเรื่องที่น่าคับแค้นที่ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐ หรือนายทหารระดับบังคับบัญชาหรือทหารแม้แต่คนเดียวที่รับผิดชอบต่อการสลายการชุมนุมที่นองเลือดในปี 2553” ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุพร้อมสำทับว่า โอกาสของรัฐบาลไทยที่จะพิสูจน์ตัวเองว่ามีกระบวนการการยุติธรรมที่ไม่เลือกข้าง และโอกาสในการสร้างความปรองดองทางการเมืองนั้นพร่าเลือนไปอย่างรวดเร็ว
แฟ้มภาพ พ่อของนายสมาพันธ์ ศรีเทพ และแม่ของน.ส. กมนเกด อัคฮาด ซึ่งเสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 เดินเท้าจากหน้าวัดปทุมวนารามไปยังหน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เมื่อวานนี้ เพื่อประท้วงคำตัดสินของ ป.ป.ช.


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top