0

ทำความเข้าใจข้อพิพาทระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านกัน
สัปดาห์ที่ผ่านมา ความตึงเครียดระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านได้เพิ่มขึ้นถึงระดับอันตราย หลังจากที่ซาอุฯ ประหารชีวิตเชคนิมร์ อัล-นิมร์ นักบวชนิกายชีอะห์ผู้นำชาวมุสลิมชีอะห์ในจังหวัดทางตะวันออกของประเทศ และเหตุการณ์ประชาชนที่โกรธแค้นบุกโจมตีสถานทูตซาอุฯ ในกรุงเตหะราน นครหลวงของอิหร่าน
แฟรงค์ การ์ดเนอร์ ผู้สื่อข่าวบีบีซี วิเคราะห์ถึงความเป็นปรปักษ์ที่มีมาช้านานระหว่างสองประเทศ และประเมินว่าซาอุฯ กับอิหร่านจะสามารถยุติความขัดแย้งได้หรือไม่
ซาอุฯ เพิ่งเริ่มเป็นประเทศเมื่อปี 2475 แต่ดินแดนในปกครอง คือส่วนใหญ่ของคาบสมุทรอาหรับนั้น เป็นสถานที่เกิดของศาสนาอิสลามและยังเป็นที่ตั้งของเมืองศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของศาสนาอิสลาม 2 แห่ง คือเมกกะกับเมดินา ด้วย
ในช่วงปีแรก ๆ แห่งชัยชนะของอิสลามในศตวรรษที่ 7 กองทัพมุสลิมได้ยกทัพจากอาหรับไปเอาชนะพวกเปอร์เซีย ต่อมาในศตวรรษนั้น หลังจากพระศาสดามูฮัมหมัดเสียชีวิตลง ได้เกิดข้อพิพาทว่าใครควรสืบทอดตำแหน่ง “คาลิฟา” หรือกาหลิบที่จะปกครองจักรวรรดิอิสลามซึ่งกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วต่อไป
กลุ่มหนึ่งที่ต้องการแยกตัวเชื่อว่า ควรจะเป็นอาลี ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องและลูกเขยของพระศาสดา แต่เขาถูกลอบสังหาร จากนั้นกลุ่มนี้ก็เป็นที่รู้จักในนาม “ชีอะห์อาลี” หรือพรรคของอาลี ซึ่งทุกวันนี้เป็นชนกลุ่มใหญ่ในอิหร่าน อิรักและบาห์เรน
แต่ในยุคสมัยไม่นานมานี้ ความเป็นคู่แข่งระหว่างซาอุฯ กับอิหร่านเป็นเรื่องของการชิงอำนาจเป็นหลัก โดยเริ่มจากการปฏิวัติอิสลามของอิหร่านเมื่อปี 2522 ก่อนหน้านั้นในช่วงที่พระเจ้าชาห์แห่งอิหร่านยังทรงครองบัลลังก์ ความสัมพันธ์เป็นไปอย่างฉันมิตร และบรรดารัฐอาหรับแถบอ่าวเปอร์เซียต่างพอใจให้กองทัพเรือของอิหร่านทำหน้าที่เสมือน “ตำรวจแห่งอ่าวเปอร์เซีย”
แต่สถานการณ์ดังกล่าวเปลี่ยนไป เมื่อเกิดการปฏิวัติในอิหร่าน จู่ๆ ก็เกิดการแข่งขันเพื่อพิสูจน์ว่าประเทศใดสมควรเป็นผู้นำโลกอิสลามมากที่สุด ทั้งสองประเทศได้แข่งขันกันสะสมอาวุธเพื่อสร้างอิทธิพล นอกจากนั้นยังส่งออกและส่งเสริมศาสนาอิสลามในฉบับของตน ซึ่งนับเป็นการแข่งขันกันโดยตรง
ปัจจุบันอิหร่านมีพันธมิตรรวมถึงกลุ่มเฮซบอลลาห์ในเลบานอน ประธานาธิบดีอัสซาดแห่งซีเรีย และกองทหารอาสาสมัครนิกายชีอะห์ในอิรัก
ซาอุฯ เชื่อว่าสิ่งที่ตนเรียกว่า “การเข้าไปแทรกแซง” ของอิหร่านในภูมิภาคยังขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ด้วย ทำให้ซาอุฯ เกิดความหวาดระแวงและกล่าวหาอิหร่านว่ายุยงพวกชีอะห์ในซาอุฯ กับบาห์เรนก่อเหตุไม่สงบ รวมทั้งสนับสนุนกลุ่มกบฏฮูติในเยเมน
ด้านผู้นำอิหร่านก็กล่าวหาซาอุฯ ว่าสนับสนุนด้านการเงินพวกซุนนีหัวรุนแรง ซึ่งอิหร่านถือว่าเป็นผู้รับผิดชอบต่อการก่อตัวของพวกกลุ่มจิฮัดอย่างเช่น กลุ่มอัล-ไคดา และกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ารัฐอิสลาม (ไอเอส)
สงครามวาทะระหว่างซาอุฯ กับอิหร่านในปัจจุบันจึงเป็นเพียงพัฒนาการล่าสุดในความตึงเครียดที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานระหว่างประเทศทั้งสอง
อย่างไรก็ตาม เมื่อประธานาธิบดีคาตามีของอิหร่าน ซึ่งมีแนวคิดเดินทางสายกลาง ขึ้นครองอำนาจในอิหร่านเมื่อปี 2540 ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศก็ดีขึ้นตามมา ครั้นถึงปี 2548 ผู้ที่ขึ้นครองตำแหน่งต่อมาคือประธานาธิบดีอาห์มาดิเนจาด ผู้พร้อมจะทำสงคราม ความสัมพันธ์กับบรรดาประเทศอาหรับแถบอ่าวเปอร์เซียจึงดิ่งลงเหว
ขณะนี้อิหร่านมีประธานาธิบดีที่มีแนวคิดค่อนข้างสายกลางอีกครั้ง คือฮัสซัน โรฮานี ในขณะที่ซาอุฯ เริ่มใช้นโยบายต่างประเทศใหม่ที่ก้าวร้าว แต่เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้วนี้เอง ในการเจรจาสันติภาพซีเรีย มีการกล่าวถึงการกลบฝังความขัดแย้งระหว่างซาอุฯ กับอิหร่าน เป็นไปได้ว่าอาจมีการบรรลุข้อตกลงซึ่งจะยุติสงครามกลางเมืองในซีเรียลงในที่สุด กลุ่มไอเอสอาจถูกถล่มจนปราชัยในฐานะศัตรูร่วมของทั้งสองฝ่าย และซาอุฯ กับอิหร่านก็อาจเลิกสนับสนุนทางทหารต่อฝ่ายที่สู้รบกัน
อย่างไรก็ดี ในวันนี้ เป้าหมายดังกล่าวแม้จะมิใช่จะเป็นไปไม่ได้ แต่กำลังถอยห่างออกไปเหนือเส้นขอบฟ้าอย่างแน่นอนชัดเจน ‪#‎Iran‬ ‪#‎Saudiarabia‬
ภาพประกอบ (แฟ้มภาพ) ภาพแรก สถานทูตซาอุฯ ในกรุงเตหะราน ขณะถูกเพลิงไหม้, ภาพ 2 การปฏิวัติอิสลาม ในกรุงเตหะราน, ภาพ 3 ปธน.อัสซาด (ขวา) กับนายอาลี อัคบาร์ เวลายาติ ที่ปรึกษาของผู้นำสูงสุดของอิหร่าน, ภาพ 4 ปธน. คาตามี (ซ้าย) ปธน. อาห์มาดิเนจาด (กลาง) ปธน. โรฮานี (ขวา)






แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top