ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่เศรษฐกิจจีนขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมาย 0.1%
จีนเพิ่งเปิดเผยตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2558 ว่าชะลอตัวมากที่สุดในรอบ 25 ปี คืออยู่ที่ 6.9% ต่ำกว่าเป้าหมายที่ทางการจีนตั้งไว้ที่ 7% คาริชมา วัสวานีผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจเอเชียของบีบีซีบอกว่า การที่เศรษฐกิจจีนขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายไป 0.1% มีนัยสำคัญทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ช่วยดึงประชาชนนับล้านออกจากความยากจน ช่วยสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศ และทำให้จีนเป็นประเทศที่มีฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่เมื่อเศรษฐกิจมีช่วงขาขึ้นก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมีขาลง และภาวะที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงก็ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย
ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนพยายามทำให้เศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยน จากเศรษฐกิจที่พึ่งพาการลงทุนของรัฐและภาคการผลิต ไปเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคบริการเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้จีนยังพยายามทำให้เศรษฐกิจเติบโตใกล้ระดับ 7% เพื่อรักษาอัตราการสร้างงานที่มีเสถียรภาพให้แก่ประชาชน
ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เศรษฐกิจเอเชียและเศรษฐกิจโลกพลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย โดยประเทศต่าง ๆ ตั้งแต่ออสเตรเลียไปถึงสหราชอาณาจักรต่างต้องการขายสินค้าให้กับตลาดขนาดใหญ่ของจีน นอกจากนี้ การที่จีนกลายเป็นโรงงานของโลก จึงทำให้กลุ่มผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากสินค้าราคาถูกไปด้วย ผู้สื่อข่าวชี้ว่า จีนได้ก้าวขึ้นเป็นเครื่องจักรที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่จีนเปิดเผยในวันนี้ (19 ม.ค.) บ่งชี้ว่าการที่มัวแต่หวังพึ่งให้เศรษฐกิจจีนเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจโลก ไม่เพียงจะเป็นเรื่องที่ไม่ฉลาด แต่ยังเป็นความคิดที่ผิดด้วย และการที่เศรษฐกิจของจีนยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่รวดเร็วเหมือนก่อน แต่ก็ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะมีประเทศใดขึ้นมาทัดเทียมจีน ซึ่งนั่นถือเป็นข่าวร้ายสำหรับทุกคน และหมายความว่ารัฐบาลประเทศต่าง ๆ จะต้องหาหนทางในการทำให้เศรษฐกิจของตนเติบโตอย่างยั่งยืนโดยเร็ว
ขณะเดียวกัน มีหลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยถึงความน่าเชื่อถือของตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ทางการจีนประกาศออกมา ซึ่งใกล้กับเป้าหมายที่ตั้งไว้ก่อนหน้านี้ แอนเดรียส อิลล์เมอร์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีบอกว่า ตัวเลขดังกล่าวมีความสำคัญต่อชาวจีนในแง่ของการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นและค่าจ้างที่สูงขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นตัวบ่งชี้สภาพเศรษฐกิจจีนให้กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่ทำการค้ากับจีนด้วย ดังนั้นความแม่นยำของตัวเลขทางเศรษฐกิจจีนจึงเป็นเรื่องสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ทอม ราฟเฟอร์ตี จากอิโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต ในกรุงปักกิ่งบอกว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของจีนอาจไม่แม่นยำ 100% เนื่องจากมีข้อจำกัดในการเก็บและจัดการข้อมูล เพราะเจ้าหน้าที่บางส่วนมักให้ข้อมูลที่เกินจริง แต่ขณะเดียวกันตัวเลขดังกล่าวก็เป็นเพียงตัวเลขเดียวที่ทางการจีนเปิดเผยออกมา และแม้ว่าจะไม่มีความน่าเชื่อถือในเชิงสถิติ แต่ก็ส่งผลกระทบต่อทั้งจีนเองและความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจโลก #ChinaEconomy #WorldEconomy#China
ภาพประกอบ ภาพแรก ย่านถนนคนเดินเฉียนเหมิน ในกรุงปักกิ่ง, ภาพ 2 ท่าเรือแห่งหนึ่งในมณฑลเจียงซู, ภาพ 3 วิวนครเซี่ยงไฮ้, ภาพ 4 ตลาดหุ้นในมณฑลเจ้อเจียง
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น