0

อนาคตทางการเมืองไทยตอนนี้ต้องฝากไว้กับประชาชนแล้วว่าจะตัดสินอนาคตประเทศเป็นอย่างไร
หากจะเดินในเส้นทางอำนาจนิยมให้ชนชั้นนำผูกขาดอำนาจและมีทหารครอบงำประเทศ สร้างระบอบประชาธิปไตยแบบจอมปลอม ประเทศไทยคงกลายเป็น "ประเทศที่ล้มเหลวในการพัฒนา" ไม่สามารถที่จะ Take off" ทะยานขึ้นทางเศรษฐกิจกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ คงวนเวียนกลายเป็นประเทศโลกที่สาม หมกมุ่นกับการต่อสู้ชิงอำนาจภายในไม่จบสิ้น ปล่อยให้มาเลเซีย นำหน้าไทยกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว นำหน้าประเทศไทยไป แบบเกาหลีใต้และสิงคโปร์ ในที่สุดเวียดนามและฟิลิปปินส์ก็จะนำหน้าไทยไปอีก
ไม่เคยมีประเทศอำนาจนิยม เผด็จการที่สามารถกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ มันเป็นขั้นตอนทดสอบสังคมว่าจะทะลุผ่านได้หรือไม่ หากไม่สามารถนำสังคมขึ้นสู่ประชาธิปไตยแบบตะวันตกได้ ก็จะไม่สามารถลอกคราบกลายเป็นผีเสื้อ ทะยานขึ้น กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ วนเวียนเป็นสังคมด้อยพัฒนาต่อไป
ตอนนี้เราคงต้องฝากอนาคตกับ "ผู้เลือกตั้งหรือประชาชน" ว่าปี 2016 นี้พวกเขาคิดอย่างไร พฤติกรรมการตัดสินใจทางการเมืองเป็นอย่างไร " อุดมการทางการเมืองของพวกเขาเป็นอย่างไร"
อดีตอาจตัดสินอนาคต แต่ผมไม่คิดว่าจะเอาอดีตการแย่งอำนาจวงจรรัฐประหารอุบาทว์มาวิเคราะห์ว่าประเทศไทยต้องวนเวียนตกอยู่ในวังวนเผด็จการนี้ ใครจะชิงอำนาจกันอย่างไร เป็นปรากฎการณ์ของเหตุการณ์เฉพาะกรณี แต่สำคัญคือ ประชาชน ในช่วงเวลานั้นมีคุณสมบัติอย่างไรต่างหาก คนเปลี่ยนไม่ได้ง่ายนัก แต่เมื่อ Generation ของคนเปลี่ยน ประชาชนก็ไม่เหมือนคนในอดีต
ปี 2475-2500 ภายใน 25 ปีนั้น ผมว่าประชาชนยังมีพฤติกรรมและคุณสมบัติเหมือนเดิม คือเป็นไพร่ฟ้า ไม่เข้ามาเกี่ยวข้องการเมืองมากนัก ปล่อยให้การแย่งชิงอำนาจ การปกครองอยู่กับคนชั้นนำ ใครขึ้นมาเป็นใหญ่ ก็ไม่เกี่ยวข้องกับประชาชนมากนัก หากในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ก็ไม่มีปัญหาอะไรใหญ่โต
ปี 2500-2525 นี่ผมว่าประชาชนเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องการเมือง หลังจากไม่เคยสนใจเลยตั้งแต่อดีต แต่เข้ามาในลักษณะต่างความคิด กลุ่มย่อยๆ ส่วนใหญ่ยังไม่มีปฏิสัมพันธ์กัน แยกกันตามท้องถิ่น
ปี 2525-2540 นี่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมาก เพราะเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรม เปิดรับการลงทุน แต่อุดมการณ์ทางการเมืองยังกระจัดกระจายตามท้องถิ่น หวังผลประโยชน์เฉพาะหน้า เช่น เงินค่าซื้อเสียง การพัฒนาท้องถิ่น เนื่องจากสังคมยังเป็นภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก นโยบายรัฐบาลกระทบต่อประชาชนไม่มากนัก คนส่วนมากยังอยู่ในหมู่บ้าน เริ่มอุตสาหกรรม แต่ยังไม่มาก แต่สังคมช่วงนี้มีพลวัตรสูง
ปี 2540-2559 พฤติกรรมทางการเมืองของประชาชน เป็นลักษณะ Strategic คือ การเลือกตั้งเลือกแบบพรรค สนใจนโยบายรัฐบาลมาก เพราะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ การตกงาน การกินดีอยู่ดี เนื่องจากสังคมเริ่มเป็นอุตสาหกรรม นโยบายมหภาคส่งผลกระทบต่อคนทุกคน ทุกชั้น อีกอย่างหนึ่ง โครงสร้างพื้นฐาน Infrastructure เช่น ถนน ไฟฟ้า โรงเรียน สถานีอนามัย โรงพยาบาล กระจายแทบครอบคลุมทั้งประเทศแล้ว ความขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานลดลงไปมาก แต่นโยบายมหภาค เช่น สามสิบบาท จำนำข้าว ส่งผลกระทบมหาศาลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน
เราต้องวิเคราะห์แรวโน้มทางการเมืองแบบไดนามิกส์ จากคุณลักษณะของประชาชนในแต่ละยุคสมัยเป็นหลัก เพราะประชาชนแต่ละยุคสมัย อุดมการณ์ทางการเมืองต่างกัน ความเชื่อพื้นฐานต่างกันยุคใหม่นี้ แนวคิดแบบเทวราชา บุญบารมีต่างๆ มีอิทธิพลน้อยมาก แต่แนวคิดเรื่อง เสรีภาพ ความเท่าเทียมกัน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีอิทธิพลและความสำคัญมาก


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top