0

"สัตว์ประหลาดใต้ทะเล" ในเคมบริดจ์เชียร์อาจเป็นชนิดพันธุ์ใหม่
คณะนักโบราณคดีเปิดเผยว่า ซากของ "สัตว์ประหลาดใต้ทะเล" ยุคจูราสสิคที่พบในมณฑลเคมบริดจ์เชียร์ อาจเป็นสัตว์เลื้อยคลานทะเลดึกดำบรรพ์ (พลีซิโอซอร์) สายพันธุ์ใหม่ ทั้งนี้ ดร. คาร์ล แฮร์ริสันกับคณะนักโบราณคดีจากออกซ์ฟอร์ดได้ขุดพบกระดูกกว่า 600 ชิ้น รวมทั้งกะโหลกของสัตว์เลื้อยคลานดังกล่าวซึ่งมีอายุ 165 ล้านปี ที่เหมืองหินมัสต์ฟาร์ม ใกล้เมืองวิตเทิลซี พวกเขาพบว่าซากดึกดำบรรพ์นี้ยังถูกเก็บรักษาไว้ในชั้นดินเหนียว
นักบรรพชีวินวิทยาคนหนึ่งเปิดเผยว่า ซากที่พบซึ่งพวกเขาเรียกว่า “อีฟ” เป็นซากดึกดำบรรพ์ที่น่าทึ่ง มันมีลักษณะทางสรีรวิทยาแบบที่เคยพบในพลีซิโอซอร์ที่มีขนาดครึ่งหนึ่งของมันเท่านั้น และชิ้นส่วนที่พบมีเกือบครบทั้งตัว ขาดไปเพียงครีบหลังและบางส่วนของครีบหน้า คณะนักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าอีฟมีลำตัวยาว 6 เมตร หนัก 300 กิโลกรัม
พลีซิโอซอร์คือสัตว์ทะเลที่มีชีวิตอยู่ในยุคเดียวกับไดโนเสาร์ มีความยาวตั้งแต่ประมาณ 2 เมตรถึง 15 เมตร และมีลำคอที่ยาวมาก มันกินสัตว์ทะเล เช่น ปลาและหอยเป็นอาหาร เวลาอยู่ในน้ำ มันอาจสามารถว่ายน้ำได้ด้วยความเร็ว 8.2 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยมันได้สูญพันธุ์ไปเมื่อ 66 ล้านปีก่อน
สถานที่ที่ขุดพบอีฟซึ่งเป็นของบริษัทฟอร์เทอร์รา ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง เป็นที่ที่มีการขุดพบสำคัญหลายครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่อีฟมีอายุเก่าแก่กว่ามาก นักบรรพชีวินวิทยาจึงมีเหตุผลที่จะสันนิษฐานว่ามันเป็นพลีซิโอซอร์สายพันธุ์ที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อน
ฟอร์เทอร์ราได้บริจาคอีฟให้กับพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และคณะผู้เชี่ยวชาญของพิพิธภัณฑ์กำลังศึกษาโครงกระดูกที่เพิ่งพบนี้ ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญอีกกลุ่มกำลังบรรจงขุดส่วนกะโหลกของมันออกจากดินเหนียวhttp://bbc.in/1QjwVcd


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top