ดร. วิโรจน์ ณ ระนอง เสนอเลิกแนวคิดแก้ปัญหาระยะสั้นด้วยการแทรกแซงราคายางพาราและข้าว
ดร. วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยโดยระบุว่าข้าวและยาง ยังคงเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย แต่ทั้งเกษตรกรและผู้มีส่วนกำหนดนโยบายสนับสนุนเกษตรกรต้องเลิกยึดติดกับการแทรกแซงราคาเพราะไม่ได้ช่วยให้ไทยสามารถกำหนดราคายางในตลาดโลกได้ เสนอแปลงกองทุนสงเคราะห์เป็นกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายางพารา
ทั้งนี้ ดร.วิโรจน์ชี้ว่าความท้าทายสำหรับยางพาราคือราคาน้ำมันดิบที่เป็นต้นทางผลิตยางสังเคราะห์ที่ใช้ทดแทนยางได้นั้นยังคงปรับตัวลดลงไปเรื่อย ๆ และคาดว่าจะใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะราคาจะเริ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ขณะที่ความท้าทายของเกษตรกรในภาคกลางที่ส่วนใหญ่ทำนาข้าวก็คือปริมาณน้ำ ที่เป็นผลจากสภาพอากาศโลกและการบริหารจัดการน้ำ
“ถ้าในปีสองปีก่อนเราพูดได้ว่าการประท้วงเรื่องต่างๆ มีปัจจัยการเมืองด้วย แต่ตอนนี้ต้องบอกว่าชาวสวนยางจำนวนมากอยู่ในจุดที่เขาเดือดร้อนและเริ่มมีการหยุดกรีด” ดร.วิโรจน์กล่าวโดยยังเชื่อว่ายางนั้นไม่ไร้อนาคตเสียทีเดียว เพราะไทยยังคงเป็นประเทศที่ส่งออกเป็นอันดับหนึ่ง คือ 30 เปอร์เซ็นต์ของโลก และยางพาราของไทยมีคุณภาพสูงกว่าอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งประเทศหลังได้หันไปเน้นการผลิตปาล์มน้ำมันตั้งแต่ราว 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ดร.วิโรจน์ เห็นว่านโยบายของรัฐบาลที่จะเพิ่มการบริโภคในประเทศนั้นเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เพราะที่ผ่านมาไทยเน้นการส่งออก และแม้จะมีการใช้ภายในประเทศก็เพื่อการผลิตถุงมือและถุงยางอนามัยส่งออกด้วยเช่นกัน
“การที่ท่านนายกพูดถึงการเพิ่มการใช้ยางเป็นล้านสี่แสน (ตัน) เพราะคิดว่าเราใช้น้อย จริงๆ แล้วถ้าจะเพิ่มไปขนาดนั้นต้องเพิ่มอีกสองร้อยเปอร์เซ็นต์.....ซึ่งในความเป็นจริง เราก็มีการใช้ยางเพิ่มขึ้นมา สิบกว่าปีก่อน เราผลิตสองล้านตัน ใช้สองแสน (ตัน) ตอนนี้ผลิตสี่ล้านกว่า แล้วใช้ห้าแสนสี่ เราเพิ่มการใช้งานเยอะในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา ถ้าเอกชนเขาเห็นโอกาสและลู่ทางที่จะผลิตเขาก็ทำอยู่แล้ว แต่การที่คิดว่าจะเพิ่มการใช้งานมากๆ ก็ไม่เห็นว่าจะเป็นไปได้อย่างไร แล้วถ้าเราใช้มากขึ้นก็ไม่ได้ช่วยให้เรากำหนดราคายางในตลาดโลกได้ เพราะตราบเท่าที่ต้องส่งออกไปสู่ตลาดโลก เราไม่สามารถกำหนดราคาเอง”
ดร.วิโรจน์กล่าวว่า ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรนั้นมักเน้นการแก้ปัญหาระยะสั้น ซึ่งทำอะไรไม่ได้มาก เขาเสนอว่า สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้ราคายางไม่ผันผวนมากนัก คือการใช้กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางมาเป็นกลไกในการช่วยกำหนดและแทรกแซงราคา
“ตั้งแต่ห้า-หกปีก่อน ผมเสนอมาตลอดให้เปลี่ยนเป็นกองทุนรักษาเสถียรภาพราคา โดยวิธีการที่ไม่ลำบากเท่าไหร่ คือมีต้นทุนแทรกแซงน้อยกว่าเรื่องข้าว เวลาที่ยางราคาดีก็เพิ่มภาษี และถ้าราคาลดต่ำลงก็ลดภาษีและเอากองทุนมาแทรกแซงราคา วิธีนี้จะไม่ทำให้ราคาขึ้นลงเร็วเท่ากับตลาดโลก สาเหตุที่เสนอเพราะว่ามูลค่าการผลิตยางสูงกว่าข้าวเสียอีก เป็นแสนล้านบาท ผมก็มองไม่เห็นทางว่าจะให้รัฐบาลมาอุ้มได้อย่างไรเวลาราคาตก ขณะเดียวกันก็คิดว่าไม่เป็นธรรมที่จะเอาภาษีมาอุ้มด้วย เวลาราคายางสูงไปเป็นร้อยกว่าบาท ก็เหมือนชาวสวนยางถูกหวย ก็มีหน้าที่ที่จะเก็บเงินไว้ช่วยเวลาราคาตก แต่ก็ไม่แปลกใจที่เวลาราคาดี ข้อเสนอนี้ก็ไม่มีคนสนใจ แต่พอเวลาราคาต่ำ จะมาใช้เงินกองทุนไปอุดหนุนก็เหลืออยู่สามหมื่นกว่าบาท ซึ่งก็คงทำอะไรไม่ได้มาก”
ในขณะเดียวกัน ดร.วิโรจน์เห็นว่าการแทรกแซงรอบล่าสุด คือ การพยายามนำเงินจากกองทุนนี้ไปใช้ และมีข้อถกเถียงกันว่าใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ ซึ่งนี่ก็จะเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้การแทรกแซงราคาที่ 45 บาทเป็นการแทรกแซงที่ล่าช้า
“ตัวเลขที่ผมเห็นเร็วๆ นี้กองทุนอาจจะมีสามหมื่นกว่าล้านจริง แต่ที่ใช้ได้นั้นมีคนพูดว่ามีอยู่ 360 กว่าล้านที่ใช้ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ขณะที่ถ้าซื้อแสนตันที่ราคากิโลกรัมละ 45 บาทนั้นต้องใช้ 4,500 ล้าน”
ในระยะที่ยาวกว่านั้น ดร.วิโรจน์เชื่อว่าต้องลดการอุดหนุนสินค้าเกษตร และให้เกษตรกรได้ตัดสินใจตามกลไกราคา ซึ่งที่ผ่านมา เกษตรกรของไทยจำนวนมาก “โหวตด้วยเท้า” คือการให้ลูกหลานออกจากภาคเกษตร ส่วนที่เหลือก็มาทำการเกษตรที่มีขนาดใหญ่มีฟาร์มใหญ่มากขึ้น และข้อมูลอีกประการที่ต้องพิจารณา แม้ว่าไทยจะภาคภูมิใจและมีอุดมการณ์เกี่ยวกับการเกษตรอย่างมาก แต่เมื่อมองตัวเลขผลผลิตมวลรวมของภาคเกษตรไทยนั้นได้ลดขนาดลงเหลือเพียงราว 7.7 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีเท่านั้น
“ถ้าถามว่าภาคเกษตรยังมีความสำคัญหรือเปล่า ก็มีความสำคัญ คือยังเป็นภาคที่มีความสำคัญและเป็นภาคที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบประเทศอื่นๆ ค่อนข้างเยอะ เราแข่งกับประเทศอื่นๆ ได้สบายมากโดยรัฐบาลไม่ต้องอุดหนุน ผมไม่ได้หมายความว่าเกษตรกรทุกคนจะอยู่ได้ แต่ภาคเกษตรของเรานั้นจะอยู่ได้....ตัวภาคเกษตรเองผมคิดว่าสิ่งสำคัญอันหนึ่ง คือ ใครที่ทำแล้วมีประสิทธิภาพและแข่งขันได้ก็ปล่อยเขาทำไป แต่ใครที่ทำแล้วไม่คุ้มก็หาทางไปทางอื่น”
ทั้งนี้ ดร.วิโรจน์กล่าวด้วยว่าประชากรของไทยนั้นเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำมากในช่วงที่ผ่านมา และถ้าเป็นไปตามที่หลายฝ่ายพยากรณ์เอาไว้ ตั้งแต่ปีนี้ประชากรของไทยจะลดลง ดังนั้น แนวความคิดเรื่องการต้องมีภาคเกษตรไว้ให้คนตกงานพึ่งพาอาจจะไม่ใช่คำตอบ ขณะที่ศักยภาพในการผลิตภาคเกษตรของไทยนั้นเมื่อดูจากผลผลิตถือว่ามีแต่เพิ่มขึ้นไม่มีลดลง
“ผมคิดว่าสิ่งที่ควรทำอันหนึ่งคือเลิกส่งเสริมอุดมการณ์เกษตร สองฝ่ายการเมืองหรือทุกฝ่ายต้องเลิกสัญญิงสัญญาเรื่องยกราคาสินค้าเกษตร แล้วในที่สุดมันจะเข้าที่เข้าทางของมันเอง เกษตรกรเขาจะปลูกเมื่อเขาคิดว่าเขาทำแล้วคุ้ม จะไม่มีเกษตรกรที่ปลูกเพราะเชื่อว่าเมื่อถึงเวลาจะสามารถเดินขบวนแล้วไปเรียกร้องราคาได้” ดร.วิโรจน์กล่าว
ติดตามคลิปสัมภาษณ์ ดร.วิโรจน์ ณ ระนองได้ที่บีบีซีไทย เร็วๆ นี้
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น