เผยกูเกิลจ่ายแอปเปิ้ลหลายหมื่นล้านบาท เพื่อให้คงฟังก์ชันค้นหาข้อมูลประจำระบบไอโอเอส
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่าเมื่อปี 2557 กูเกิลได้จ่ายเงินให้แอปเปิ้ล ที่เป็นคู่แข่งทางด้านเทคโนโลยี ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 36,000 ล้านบาท) เพื่อให้ใช้กูเกิลเป็นโปรแกรมหลักในการค้นหาข้อมูลประจำอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ระบบปฏิบัติการไอโอเอส
บันทึกการพิจารณาคดีลิขสิทธิ์ที่กูเกิลตกเป็นจำเลยซึ่งเคยได้รับการเผยแพร่ทางเว็บไซต์ก่อนถูกลบออกไป มีข้อความพาดพิงถึงข้อตกลงดังกล่าวระหว่างบริษัททั้งสอง โดยระบุว่า กูเกิลจ่ายเงินให้แอปเปิ้ลสูงถึง 34% จากรายได้ที่ได้รับผ่านทางอุปกรณ์ในระบบไอโอเอส อย่างไรก็ตาม บริษัททั้งสองปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในขณะที่บีบีซีก็ไม่สามารถยืนยันข้ออ้างนี้ได้
สำหรับคดีที่กล่าวถึงนี้ โจทก์คือบริษัทออราเคิล คอร์ปอเรชั่น ที่ได้ฟ้องกูเกิล โดยอ้างว่ากูเกิลใช้ซอฟต์แวร์จาวาของออราเคิล เพื่อพัฒนาระบบแอนดรอยด์ แต่มิได้ชำระค่าธรรมเนียม ผู้สื่อข่าวบีบีซีรายงานว่า ที่ผ่านมาบริษัทวิเคราะห์หลายบริษัท โดยเฉพาะ มอร์แกน สแตนลีย์ เคยอ้างถึงเงินจำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาแล้ว แต่นี่ดูเหมือนเป็นครั้งแรกที่มีการพูดถึงเรื่องนี้ในเอกสารของศาล
คริส กรีน นักวิเคราะห์ด้านเทคโนโลยีชี้ว่า การทำธุรกิจซอฟต์แวร์สำหรับค้นหาข้อมูลบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้อย่างงาม และดูเหมือนว่า เป็นเรื่องปกติที่บริษัทต่าง ๆ จะจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับบริษัทผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ ให้ติดตั้งซอฟต์แวร์และบริการต่าง ๆ บนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของตน และบางครั้งบริษัทเหล่านี้จะได้รับส่วนแบ่งจากการทำธุรกรรมในลักษณะนี้ด้วย
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีการเปิดเผยรายละเอียดการทำธุรกิจของกูเกิล ซึ่งรวมถึงการที่กูเกิลได้ถอดโฆษณาที่ “ไม่ดี” ราว 780 ล้านชิ้นออกจากเว็บกูเกิลเมื่อปีที่แล้ว โดยกูเกิลอ้างถึง การโฆษณาที่ไม่ดีเหล่านั้นว่า เป็นการโฆษณาที่ลวงให้ผู้ใช้กดลิงก์เพื่อไปยังโปรแกรมที่อาจทำให้ระบบเสียหาย โฆษณาสินค้าปลอม หรือหลอกลวงผู้ใช้
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น