0
ตำรวจเข้ม เตรียมใช้อุปกรณ์ Biometric และเพิ่มมาตรการตรวจสอบ-ลงโทษชาวต่างชาติอยู่เกินวีซ่า

ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเผยมาตรการป้องกันอาชญกรรมและก่อเหตุรุนแรง ระบุพบชาวต่างชาติอยู่เกินกำหนดวีซ่า หรือ โอเวอร์สเตย์ ในไทยกว่า 600,000 คน บางส่วนจงใจเข้ามาก่ออาชญากรรม รวมไปถึงหลบหนีการจับกุมในคดีอาชญากรรม โดยตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเตรียมเพิ่มความรอบคอบและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งจะนำเอาอุปกรณ์ที่ช่วยบ่งชี้ลักษณะทางชีวภาพของบุคคล หรือ อุปกรณ์ Biometric มาใช้

พล.ต.ท. ณัฐธร เพราะสุนทร ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ระบุว่า เท่าที่ตรวจสอบ พบว่ากลุ่มคนที่อยู่เกินวีซ่านั้นแบ่งเป็น 4 ประเภทคือ กลุ่มแรก ตั้งใจมาทำงานโดยตรง เป็นกลุ่มเอเชียใต้และเพื่อนบ้าน กลุ่มที่สอง กลุ่มที่สอง มาพักรอ เพื่อเดินทางต่อไปประเทศที่สาม อาจจะรอเป็นเดือน หลายเดือน และบางกรณีอยู่เป็นปี คือกลุ่มตะวันออกกลางและแอฟริกาและเพื่อนบ้านบางประเทศ กลุ่ที่สาม เข้ามาก่ออาชญากรรม เป็นกลุ่มแอฟริกันและเพื่อนบ้านบางประเทศ และกลุ่มที่สี่คือกลุ่มคนร้าย อาชญากรข้ามชาติหลบหนีเข้ามา กรณีหลังนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมได้ไม่ต่ำกว่าห้าสิบราย

พล.ต.ท. ณัฐธร ระบุว่า ปลายปีที่แล้ว ข้อมูลของ สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองพบว่ามีชาวต่างชาติอยู่เกินวีซ่ากว่า 800,000 ราย แต่เมื่อตำรวจได้เพิ่มมาตรการกวาดล้าง ในช่วงสามเดือนท้ายของปี ทำให้ยอดผู้อยู่เกินวีซ่าขณะนี้ลดลงเหลือราว 600,000 ราย

ทั้งนี้ ทางตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเห็นว่ากฎหมายไทยอ่อนแอเกินไป ที่ผ่านมากำหนดโทษปรับเพียงแค่วันละห้าร้อยบาท และปรับสูงสุดไม่เกินเกินสองหมื่นบาท ไม่มีโทษจำคุกซึ่งถือเป็นแรงจูงใจอย่างดีให้เกิดการอยู่เกินวีซ่า เพราะอยู่นานเท่าไหร่ก็ได้ โดยปรับแค่สองหมื่นบาท

อย่างไรก็ตาม จากนี้จะมีการเพิ่มโทษผู้ที่อยู่เกินวีซ่า หลังจากที่นายกรัฐมนตรี มีการลงนามคำสั่งในการเพิ่มโทษแล้วจะสามารถนำกฎหมายนี้มาใช้ในช่วงเดือนมีนาคม อีกด้านหนึ่ง จะมีการนำระบบ Biometric มาใช้ เพื่อให้มีความแม่นยำในการตรวจสอบและคัดกรองบุคคลที่เข้ามาในประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดซื้อ คาดว่าจะสามารถนำมาใช้ได้ประมาณเดือนเมษายน

ทั้งนี้ ทางฝ่ายตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งถือเป็นทางเข้า-ออกหลัก โดยมีนักเดินทางกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ที่ผ่านเข้า-ออกประเทศไทยทางสนามบินแห่งนี้ ทั้งที่มีปลายทางมายังประเทศไทยและเชื่อมต่อไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยเชื่อว่าหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น สายการบิน หรือพนักงานธนาคารที่รับแลกเงินสามารถตรวจสอบข้อมูลพื้นฐานเช่น หนังสือเดินทางปลอมก็จะทำให้เกิดความรัดกุมขึ้น

สำหรับข้อมูลบุคคลที่อาจเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองระบุว่า เท่าที่ได้ประสานข้อมูลไปยังบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย และตุรกี ยังไม่มีข้อมูลการเดินทางของกลุ่มคนที่เข้าข่ายก่อการร้ายผ่านเข้า-ออกประเทศไทย



แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top