ภาพประกอบ – แฟ้มภาพ
โฆษกรัฐบาลยืนยันแก้ไขกฎหมายการเช่าที่ดินเป็น 99 ปี เพื่อประโยชน์ชาติ ไม่ใช่ขายแผ่นดินให้ต่างชาติ
วันนี้ (24 ม.ค.) พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ไขกฎหมายการเช่าที่ดิน หรือ พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 โดยขยายเวลาการให้เช่าดินของรัฐจาก 50 ปีเป็น 99 ปีว่า เป็นแนวคิดที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศ เพราะระยะเวลาการเช่า 50 ปี ยังเป็นอุปสรรค ไม่ดึงดูดการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีระยะเวลาการคืนทุนที่ยาวนาน ทำให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศไม่กล้าตัดสินใจลงทุน โดยเฉพาะเมื่อเปิดประชาคมอาเซียนแล้วจะมีการแข่งขันกันเพิ่มขึ้น ดังนั้นจำเป็นต้องมีมาตรการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้ดีกว่าคู่แข่ง หรือไม่ก็เท่าเทียมกัน เช่น สิงคโปร์และมาเลเซียที่ให้เช่าที่ดินได้นาน 99 ปี เวียดนาม 70 ปี ส่วนฟิลิปปินส์ กัมพูชาและเมียนมาให้เช่าที่ดินได้ 50 ปี
พล.ต. สรรเสริญยังย้ำด้วยว่า รัฐบาลดำเนินมาตรการดังกล่าวก็เพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งจะเป็นไปอย่างรอบคอบและมีมาตรการป้องกันการถือครองผิดวัตถุประสงค์ โดยจะให้เช่าที่ดินเฉพาะเพื่อลงทุน หรือเช่าทำธุรกิจที่โดยปกติมีการต่ออายุให้อยู่แล้ว ไม่รวมถึงการเช่าประเภทอื่นหรือเหมารวมทุกกิจกรรม และหากผู้เช่าไม่ทำตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้ก็สามารถยกเลิกได้
ในขณะนี้มีหลายภาคส่วนในสังคมที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว ซึ่งรวมถึงสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยที่ได้เคยออกแถลงการณ์คัดค้าน โดยนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมฯ ได้ระบุว่าการยกเหตุผลการให้เช่านานถึง 99 ปี เป็นแรงจูงใจให้มีการลงทุนของต่างชาติและเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่น่าจะเพียงพอ เพราะหลายฝ่ายเคยศึกษามาแล้วว่า ระยะเวลาการลงทุนจนถึงจุดคุ้มทุนไม่เกิน 30 ปี
แถลงการณ์ระบุว่าการเปิดให้เช่าที่ดินนาน 99 ปี ถือว่านานมาก และหากที่ดินผืนนั้นมีความสำคัญในแง่ของเศรษฐกิจ มูลค่าย่อมเพิ่มขึ้นทุกปี การเปิดให้เช่า 99 ปี ไม่ต่างอะไรกับ “ยกสิทธิเหนือแผ่นดิน” ให้กับต่างชาติ ดังกรณีฮ่องกงที่จีนถูกบังคับจากอังกฤษให้เช่าเกาะฮ่องกงนานถึง 99 ปี ทางสมาคมฯ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนและระงับแนวคิดดังกล่าวเสีย โดยให้หันไปพัฒนาเศรษฐกิจของชาติในแนวทางอื่น
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น