ถ้าไม่ใช่อัสซาดแล้วจะเป็นใคร ?
ความเคลื่อนไหวทางการทูตครั้งสำคัญของบรรดาชาติมหาอำนาจที่ร่วมประชุมกันที่กรุงเวียนนา เพื่อหาทางออกให้แก่วิกฤติการณ์ในซีเรียนั้น เป็นการพบหารือกันของทั้งฝ่ายที่ให้การสนับสนุนประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด และฝ่ายที่ต่อต้านเขา ลีซ ดูเซต หัวหน้าทีมผู้สื่อข่าวต่างประเทศบีบีซี บอกว่าเป้าหมายที่ชาติมหาอำนาจเหล่านี้เห็นพ้องต้องกันในการแก้วิกฤติครั้งนี้ก็คือ การป้องกันไม่ให้กองกำลังความมั่นคงและสถาบันพลเรือนของซีเรียล่มสลาย เพื่อให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของประเทศเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย
เป้าหมายดังกล่าวหมายความว่า บรรดาชาติมหาอำนาจที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้จำต้องประนีประนอมและยอมผ่อนคลายท่าทีแข็งกร้าวของตนที่มี นับแต่เหตุไม่สงบในซีเรียปะทุขึ้นเมื่อกว่า 4 ปีก่อน นักการทูตระดับสูงชาวอาหรับคนหนึ่งเผยกับผู้สื่อข่าวบีบีซีว่า การบีบให้ประธานาธิบดีอัสซาด ลงจากอำนาจก่อนที่กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของซีเรียจะเริ่มต้นขึ้นนั้น ไม่ใช่ความคิดที่เข้าท่าอีกต่อไป เพราะหากเขาก้าวลงจากตำแหน่งอย่างกะทันหัน ก็จะทำให้ 2 ใน 3 ของผู้บัญชาการทหารของนายอัสซาด ต้องลงจากตำแหน่งไปด้วย และนั่นก็จะทำให้ซีเรียล่มสลาย
การที่กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) กำลังแผ่ขยายอิทธิพลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการที่กองทัพซีเรียซึ่งกำลังอ่อนล้าต้องเผชิญแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นนั้น ทำให้เกิดความกังวลว่า ภาวะไร้รัฐบาลของซีเรียจะทำให้ประเทศตกไปอยู่ในเงื้อมมือของบรรดากลุ่มสุดโต่ง
ในการหารือครั้งนี้ ชาติอาหรับและชาติตะวันตกต่างเสนอแนวทางแก้วิกฤติในซีเรียหลายประการด้วยกัน อาทิ การหยุดยิง การนิรโทษกรรมให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และการจัดตั้งรัฐบาลรักษาการ เพื่อให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองดำเนินไปอย่างสงบเรียบร้อย และนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่รวมทั้งการเลือกตั้ง ซึ่งที่ประชุมคาดว่า กระบวนการดังกล่าวอาจต้องใช้เวลาถึง 2 ปี นอกจากนี้ รัสเซียและอิหร่านยังร่วมเสนอแนวทางแก้ปัญหาด้วย ซึ่งที่ประชุมต่างเห็นพ้องว่า การปฏิรูปตามวิถีทางของพลเรือนจะเป็นการแก้ปัญหาที่ง่ายกว่าการใช้กำลังทหาร
แหล่งข่าวเผยกับผู้สื่อข่าวบีบีซีว่า มีการหารือถึงการขอให้สมาชิกระดับสูงในทีมของประธานาธิบดีอัสซาดก้าวลงจากตำแหน่ง เพื่อเปิดทางให้กลุ่มผู้นำหน้าใหม่ ที่มีความน่าเชื่อถือกว่าจากฝ่ายค้าน ได้เข้าไปทำงานแทนกลุ่มผู้นำที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากชาวซีเรียในช่วงของการเปลี่ยนผ่านนี้ และมีกระแสข่าวว่ามีการเสนอชื่อตัวเลือกที่อาจเป็นไปได้ในที่ประชุมด้วย
ผู้สื่อข่าวบีบีซีบอกว่า แม้อิหร่านและรัสเซียจะเพิ่มกำลังสนับสนุนทางการทหารแก่พันธมิตรอย่างประธานาธิบดีอัสซาด แต่เจ้าหน้าที่ทั้งสองประเทศเผยว่า เป้าหมายแท้จริงของความเคลื่อนไหวดังกล่าวคือการปกป้องประเทศซีเรีย ไม่ใช่ประธานาธิบดีอัสซาด แต่ประเด็นใหญ่ที่ที่ประชุมยังเห็นต่างกันมากก็คือ จะยอมให้นายอัสซาดมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้อยู่นานเท่าใด โดยฝ่ายที่ต่อต้านเขายืนกรานว่า กระบวนการเปลี่ยนผ่านของซีเรียไม่อาจจะเริ่มต้นได้จนกว่าจะมีความชัดเจนว่า มันจะนำไปสู่การทำให้นายอัสซาดลงจากอำนาจ
ท้ายที่สุดแล้ว คนซีเรียนั่นเองจะเป็นผู้ตัดสินใจครั้งสำคัญนี้ โดยเมื่อไม่นานมานี้ สมาชิกกองทัพปลดปล่อยซีเรีย ซึ่งถูกมองว่าเป็นกลุ่มสายกลาง ได้เดินทางเยือนกรุงมอสโกของรัสเซีย นับเป็นการส่งสัญญาณว่า อาจยังพอมีช่องทางการเจรจาเพื่อคลี่คลายวิกฤติครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม นักการทูตระดับสูงในตะวันออกกลางคนหนึ่งบอกว่า การแก้วิกฤติการณ์ในซีเรียคงจะไม่ใช่เรื่องง่าย และยิ่งใช้เวลาแก้ปัญหานานเท่าไรก็จะยิ่งทำให้ปัญหาซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นการทำให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่สงบเรียบร้อย จึงเป็นการดีกว่าการแก้ปัญหาด้วยกำลังทหาร ซึ่งอาจนำไปสู่การล่มสลายของสถาบันต่าง ๆ ในซีเรีย #SyriaCrisis
ภาพประกอบ (แฟ้มภาพ) ประธานาธิบดีอัสซาด
ภาพประกอบ (แฟ้มภาพ) ประธานาธิบดีอัสซาด
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น