0

หรูตง พื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบหนักจากนโยบายลูกคนเดียวของจีน
ตลอดช่วงเวลากว่า 3 ทศวรรษที่จีนดำเนินนโยบายลูกคนเดียวนั้น เขตหรูตง ในมณฑลเจียงซู ทางภาคตะวันออกของประเทศ ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากนโยบายดังกล่าว
เขตหรูตง เป็นพื้นที่แรกที่ทางการจีนภายใต้การนำของประธานเหมา เจ๋อ ตุง เริ่มบังคับใช้นโยบายลูกคนเดียว จากนั้นนโยบายดังกล่าวได้มีผลครอบคลุมทั่วประเทศเมื่อปี 2522
ในช่วงนั้น เจ้าหน้าที่วางแผนครอบครัวในเขตหรูตงได้ดำเนินนโยบายลูกคนเดียวอย่างเข้มงวด โดยอดีตเจ้าหน้าที่คนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสื่อของทางการจีนว่า การทำงานของเจ้าหน้าที่วางแผนครอบครัวในยุคนั้นคือ การไล่ล่าสตรีมีครรภ์ที่ฝ่าฝืนนโยบายลูกคนเดียว แล้วนำตัวผู้หญิงเหล่านี้ไปส่งโรงพยาบาลและคอยเฝ้าไม่ให้หลบหนีในระหว่างที่นำตัวไปทำแท้ง
นอกจากนี้บุคลากรทางการแพทย์ยังมีหน้าที่คอยสอดส่องการตั้งครรภ์ของสตรีด้วยเครื่องอัลตราซาวด์แบบพกพา และมีการจดบันทึกข้อมูลรอบเดือนของสตรีในชุมชนอย่างละเอียด จนทำให้เขตหรูตงกลายเป็นต้นแบบการดำเนินนโยบายลูกคนเดียวในสมัยนั้น
จอห์น ซัดเวิร์ธ ผู้สื่อข่าวบีบีซี ได้ลงพื้นที่ในเขตหรูตง และผลกระทบจากนโยบายลูกคนเดียวก็มีให้เห็นได้ทั่วไปในพื้นที่แถบนี้ โดยในช่วงประมาณ 15 ปีที่ผ่านมา โรงเรียนประถมและมัธยมกว่าครึ่งในเขตหรูตงได้ปิดตัวลงเพราะไม่มีเด็กนักเรียน และราว 30% ของประชากรในเขตนี้ก็มีอายุเกิน 50 ปี ซึ่งนี่เปรียบเสมือนระเบิดเวลาทางประชากรศาสตร์ และทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับปัญหาต้นทุนทางสังคมที่พุ่งสูงขึ้น รวมทั้งการขาดแคลนแรงงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
นอกจากนโยบายลูกคนเดียวจะทำให้เกิดปัญหาความไม่สมดุลของคนวัยต่าง ๆ แล้ว ก็ยังสร้างความเจ็บปวดให้คนจีนหลายล้านครอบครัว โดยผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ตั้งท้องลูกคนที่ 2 ต้องจำใจทำแท้งเพราะไม่มีทางเลือก ขณะที่ผู้สูงอายุจำนวนมากต้องใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลายอย่างโดดเดี่ยว เพราะลูกที่มีอยู่เพียงคนเดียวนั้นอาศัยในเมืองอื่นที่อยู่ห่างออกไป ซึ่งนั่นทำให้พวกเขากังวลกับอนาคตในยามที่แก่ชราจนไม่สามารถดูแลตัวเองได้
สถานการณ์ในปัจจุบันทำให้นักประชากรศาสตร์ และนักสังคมวิทยาจีนเรียกร้องให้ทางการจีนผ่อนคลายนโยบายลูกคนเดียว ซึ่งล่าสุด คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ประชุมเพื่อจัดทำแผนพัฒนาประเทศระยะ 5 ปี ได้ยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวแล้ว และเปลี่ยนไปใช้นโยบายที่อนุญาตให้คู่สมรสทุกคู่สามารถมีบุตรได้ 2 คน
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายคาดว่าแม้ทางการจีนจะเปลี่ยนมาดำเนินนโยบายลูก 2 คน เพื่อกระตุ้นการขยายตัวของประชากร แต่แนวคิดเรื่องการมีลูกคนเดียวได้กลายเป็นค่านิยมของคนจีนส่วนใหญ่ในประเทศไปเสียแล้ว เพราะช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทางการจีนเริ่มผ่อนคลายนโยบายให้คู่สมรสบางคู่สามารถมีบุตรได้ 2 คน แต่คู่สมรสที่มีสิทธิ์เกือบ 90% กลับไม่ใช้สิทธิพิเศษดังกล่าว
‪#‎Chinaonechildpolicy‬
ภาพประกอบ ภาพแรก (แฟ้มภาพ) กลุ่มสตรีชาวจีนในกรุงปักกิ่ง, ภาพ 2 ครอบครัวหนึ่งในเขตหรูตง ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายลูกคนเดียวของจีน, ภาพ 3 (แฟ้มภาพ) ภาพพิมพ์ประธานเหมา



แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top