0

พืชผักมหาศาลถูกทิ้งขว้างในสหราชอาณาจักรเพราะไม่ผ่านมาตรฐานความงาม
ในแต่ละปีมีอาหารคุณภาพดีจำนวนมหาศาลถูกทิ้งขว้างในสหราชอาณาจักร ฮิวจ์ เฟิร์นลีย์ วิทติงสตอลล์ เชฟชื่อดังชาวอังกฤษ แนะผู้บริโภคเลิกพฤติกรรมทิ้งขว้างและควรช่วยรณรงค์ให้ซูเปอร์มาร์เก็ตเลิกแข่งขันขายแต่สินค้าที่ดูดี
วิทติงสตอลล์ เดินทางไปยังฟาร์มแห่งหนึ่งในมณฑลนอร์ฟอล์ก แล้วต้องตกตะลึงเมื่อพบว่า พาร์สนิป ซึ่งเป็นพืชหัวชนิดหนึ่งที่เพิ่งถูกเก็บเกี่ยวมาสด ๆร้อน ๆ มากถึง 20 ล้านตัน ถูกทิ้งขว้างเป็นขยะกองมหึมา เพียงเพราะพวกมันมีลำต้นไม่ตรง หรือมีตำหนิไม่สวยน่ากินตามมาตรฐานของซูเปอร์มาร์เก็ตที่รับซื้อ
พ่อครัวชื่อดังผู้นี้บอกว่า จำนวนพาร์สนิปที่ถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะเหล่านี้สามารถนำมาทำเป็นอาหารเลี้ยงผู้คนได้ 100,000 คนสบายๆ และนี่เป็นเพียงพาร์สนิปที่ถูกทิ้งขว้างใน 1 สัปดาห์เท่านั้น แต่หากคำนวณปริมาณพาร์สนิปที่ถูกทิ้งในการเพาะปลูก 1 ฤดูกาลก็จะเทียบเท่ากับอาหารที่เลี้ยงคนได้ 4 ล้านชุด สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกเป็นอย่างมาก
ครอบครัวแฮมมอนด์ เจ้าของ Tattersett Farm ผู้ปลูกพาร์สนิปที่ วิทติงสตอลล์ ไปพูดคุยด้วยได้เห็นซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ แข่งขันกันอย่างดุเดือดในการกำหนดมาตรฐานความงามของพืชผักที่รับซื้อจากเกษตรกร เพื่อให้ได้สินค้าสวยที่สุดไปวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตของตน ซึ่งการแข่งขันดังกล่าวทำให้มีผลผลิตที่ไม่ผ่านมาตรฐานถูกทิ้งขว้างเป็นจำนวนมาก และครอบครัวแฮมมอนด์ก็คาดว่าพวกเขาจะประสบปัญหาขาดทุนจากการขายผลผลิตปีนี้
วิทติงสตอลล์ บอกว่า ในฐานะพ่อครัวมืออาชีพเขาสามารถพูดได้ว่าพืชผักที่ถูกทิ้งขว้างเหล่านี้ไม่มีความผิดปกติใด ๆ และเขาก็อยากนำพวกมันมาทำอาหารด้วยความเต็มใจ แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่การทิ้งขว้างอาหารเช่นนี้ได้กลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว โดยราว 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตในสหราชอาณาจักรถูกทิ้งให้เป็นขยะ แต่เมื่อเขานำพาร์สนิปที่ถูกทิ้งขว้างไปแจกจ่ายตามท้องถนน ผู้คนต่างยินดีที่จะเอามันไปรับประทานและไม่อยากเชื่อว่าอาหารดี ๆ แบบนี้จะถูกทิ้ง
วิทติงสตอลล์ มองว่า ผู้บริโภคมีส่วนสำคัญในการขอให้บรรดาซูเปอร์มาร์เก็ตแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ขณะเดียวกัน ก็ควรเลิกพฤติกรรมกินทิ้งกินขว้างด้วย เพราะเกือบ 50% ของอาหารที่ถูกทิ้งเป็นขยะในสหราชอาณาจักรนั้นมาจากครัวเรือน
โดยในแต่ละปีคนในสหราชอาณาจักรทิ้งอาหารและเครื่องดื่มมากถึง 7 ล้านตัน หรือคิดเป็นเงินราว 60,000 ล้านบาท วิทติงสตอลล์ บอกว่า วิธีแก้ปัญหานี้ทำได้ด้วยการเห็นคุณค่าของอาหาร ไม่ตกเป็นทาสของวันหมดอายุบนผลิตภัณฑ์ แต่ให้ทดลองดูด้วยตา ดมกลิ่น และสัมผัสว่าอาหารยังรับประทานได้หรือไม่ก่อนที่จะตัดสินใจโยนมันลงถังขยะ

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top