0

ฟรีดอมเฮาส์ชี้เสรีภาพทางอินเตอร์เน็ตทั่วโลกตกต่ำติดต่อกันเป็นปีที่ 5 ไทยยังอยู่ในข่ายประเทศที่ไม่มีเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ต มีคะแนนความไม่เป็นเสรีมากขึ้นจาก 62 เมื่อปีที่แล้วมาอยู่ที่ 63 ในปีนี้
ฟรีดอมเฮาส์ องค์กรที่จัดทำรายงานด้านเสรีภาพสื่อและเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ต จัดทำรายงาน Freedom on the Net ประจำปี 2558 ชี้ว่าเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ตตกต่ำลงทั่วโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 5 เพราะรัฐบาลของหลาย ๆ ประเทศเซ็นเซอร์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ขณะเดียวกันก็เพิ่มการเฝ้าระวัง ปราบปรามและจำกัดเครื่องมือที่ช่วยคุ้มครองความเป็นส่วนตัวมากขึ้น
รายงานระบุว่าทางการ 42 จาก 65 ประเทศที่ฟรีดอมเฮาส์ได้ประเมินเพื่อจัดทำรายงานชิ้นนี้ ได้กำหนดให้บริษัทเอกชน หรือผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจะต้องควบคุม หรือลบเนื้อหาทางอินเตอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ศาสนา หรือประเด็นทางสังคม ซึ่งตัวเลขนี้เพิ่มจากเมื่อปีที่แล้วที่มีประเทศต่าง ๆ ดำเนินการดังกล่าว 37 ประเทศ
ฟรีดอมเฮาส์ รายงานอีกว่าการข่มขู่คุกคามก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นเช่นกัน โดยทางการ 40 จาก 65 ประเทศ คุมขังบุคคลที่แชร์ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ศาสนา หรือสังคมผ่านเครือข่ายดิจิตอล ขณะเดียวกันก็มีการออกกฎหมายว่าด้วยการเฝ้าระวังและที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น โดยรัฐบาล 14 จาก 65 ประเทศ ผ่านกฎหมายใหม่ในเรื่องนี้ ขณะที่รัฐบาลอีกหลายประเทศก็เพิ่มเครื่องไม้เครื่องมือในการเฝ้าระวัง จำกัดการตั้งรหัสลับ และการปกปิดตัวตน
รายงานของฟรีดอมเฮาส์ยังระบุสถานะเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ตของแต่ละประเทศในปีนี้ โดยในส่วนของไทยยังมีสถานะไม่เสรี มีคะแนนความไม่เสรีเพิ่มจาก 62 เมื่อปีที่แล้ว เป็น 63 ในปีนี้ โดยคะแนนด้านอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลอยู่ที่ 9 ดีขึ้นกว่าปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 11 แต่ในแง่การจำกัดเนื้อหาเข้าชมอยู่ที่ 22 คะแนน เพิ่มจากปีก่อนหน้า 1 คะแนน ส่วนการละเมิดสิทธิ์ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มจาก 30 คะแนนเป็น 32 คะแนน ซึ่งถือว่ามีการละเมิดมากขึ้น
สำหรับความเคลื่อนไหวซึ่งฟรีดอมเฮาส์เห็นว่าสำคัญในรอบเดือนมิถุนายน 2557-พฤษภาคม 2558 ได้แก่การที่ศาลทหารได้ตัดสินลงโทษจำคุกเป็นระยะเวลายาวนานที่สุดแก่ผู้ที่กระทำการอันเป็นการดูหมิ่นราชวงศ์ผ่านทางออนไลน์ ซึ่งรวมถึงโทษจำคุก 56 และ 60 ปีตามลำดับ แต่มีการลดโทษลงเหลือ 28 และ 30 ปี เนื่องจากมีการรับสารภาพ รายงานยังระบุด้วยว่าผู้ที่ถูกทางการเรียกตัวไปราว 400 คน มักจะต้องเปิดเผยพาสเวิร์ดที่ใช้บนโซเชียลมีเดียซึ่งเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการปล่อยตัว ขณะที่กฎหมายดิจิตอลที่ร่างขึ้นจะลดทอนความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการแสดงออกผ่านทางออนไลน์
ทั้งนี้ เมื่อกลางเดือนนี้ นสพ.เดลินิวส์รายงานว่า นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วย รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้กล่าวในเวทีสาธารณะว่าด้วยเรื่องกฎหมายดิจิตอลว่า จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ในเวลาเดียวกันความที่การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์มีมากขึ้นแต่เครื่องมือในการดูแลไม่เพียงพอ จึงต้องสร้างกติกาที่เหมาะสมมาดูแล ส่วนความกังวลเรื่องที่รัฐจะเข้าถึงข้อมูลของประชาชนนั้น จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการขออำนาจจากศาลแล้วเท่านั้น
นอกจากนี้สำนักข่าวไทยยังรายงานเมื่อเดือนกันยายนในโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับรางวัล ITU Global Sustainable Digital Development Award ในฐานะผู้นำที่ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอล จากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าไทยได้นำระบบงานดิจิตอลเข้ามาบริหารขับเคลื่อนประเทศ ในโลกยุคใหม่ และไทยเป็นประเทศที่ใช้โซเชียลมีเดียมากที่สุด ต้องระมัดระวังในการใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทางสร้างสรรค์ ซึ่งก็เป็นได้ทั้งโอกาสและวิกฤติ กับยืนยันว่าไม่ได้ควบคุมเข้มงวดแต่ต้องการให้เฝ้าระวังเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการทำธุรกิจ

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top