กูเกิลเตรียมปล่อยบอลลูน ส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตเชื่อมกับภาคพื้นดิน
บริษัทกูเกิลกำลังเตรียมปล่อยบอลลูนฮีเลียม 300 ลูก ขึ้นสู่บรรยากาศชั้นสตราโทสเฟียร์ เพื่อเชื่อมสัญญาณอินเทอร์เน็ตกับภาคพื้นดิน ทางบริษัทหวังว่า บอลลูนที่ติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ต จะสามารถให้บริการเชื่อมต่อสัญญาณบอลลูนกับภาคพื้นดินได้ทั่วโลกภายในปีหน้า ทั้งนี้เพื่อให้การติดต่อสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตลื่นไหลและไม่สะดุด
การเตรียมปล่อยบอลลูนของกูเกิลตามโครงการโปรเจ็คลูนในครั้งนี้ จะมีขึ้นที่อินโดนีเซีย และมีบริษัทให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 3 บริษัทร่วมด้วย โดยกูเกิลชี้ว่า โปรเจ็ค ลูนของตน มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการติดตั้งเส้นใยแก้วนำแสง หรือสร้างเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือทั่วอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่ประกอบไปด้วยเกาะแก่งที่อยู่ห่างไกลกัน พื้นที่หลายแห่งยังเป็นป่าและเทือกเขา ก่อนหน้านี้กูเกิลได้ทดสอบโครงการโปรเจ็คลูนมาแล้วในออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, สหรัฐฯ และบราซิล ทั้งนี้โปรเจ็คลูนของกูเกิลเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2556 ในครั้งนั้นกูเกิลได้ปล่อยบอลลูนราว 30 ลูก เพื่อทดสอบที่นิวซีแลนด์
นายไมค์ แคสซิดี รองประธานโปรเจ็คลูนบอกบีบีซีว่า ในช่วงเริ่มแรกบอลลูนมีอายุการใช้งานได้เพียง 7-10 วัน แต่ในตอนนี้ใช้งานได้นานถึง 187 วัน นอกจากนั้นในระยะแรกต้องใช้พนักงานถึง 14 คน เพื่อส่งบอลลูน ซึ่งแต่ละครั้งกินเวลาระหว่าง 1 -2 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามในขณะนี้ ทีมงานใช้ปั้นจั่นที่มีระบบส่งบอลลูนได้แบบอัตโนมัติ ซึ่งสามารถปล่อยบอลลูนได้ 1 ลูกในทุก ๆ 15 นาที โดยใช้เจ้าหน้าที่เพียง 2-3 คนเท่านั้นในการควบคุม
#GoogleLoon
#GoogleLoon
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น