ชาวเนตประกาศจับตา "ซิงเกิล เกตเวย์"ใกล้ชิด เตือนถ้ารัฐยังฝืนดึงดันขัดใจประชาชน ก็อยู่ลำบาก
*****************************************
change.org อัพเดทแคมเปญรณรงค์ ประชาชนชาวเนต/สารจากรัฐบาล/ยุทธการต้านกะลา บอกเล่าถึงการติดตามนโยบายซิงเกิล เกตเวย์ของรับบาลอย่างใกล้ชิด มีใจความว่า
หากใครที่ติดตามข่าวกันอยู่ ภายหลังจากที่มีกระแสความเคลื่อนไหวต่อต้านเรื่อง Single Gateway นายกรัฐมนตรี ก็ออกมายืนยันว่าไม่ได้สั่งการให้เดินหน้าโครงการแต่อย่างใด เพราะกำลังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาความเป็นไปได้โดยกระทรวงไอซีที (แม้ว่าจะมีการค้นข้อมูลในเว็บไซต์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แล้วพบว่าก่อนหน้านี้ มี “ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี” เกี่ยวกับ Single Gateway มาแล้ว 3 ครั้ง
ที่น่าสนใจก็คือเมื่ออ่านบทสัมภาษณ์ของเจ้ากระทรวงไอซีที จุดนี้ทำให้เราเข้าใจท่าทีของกระทรวงฯ อย่างถ่องแท้ว่าขณะนี้ทำกำลังเกิดอะไรขึ้นกับโครงการ
***************************************
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
เพิ่งรับตำแหน่งได้เดือนเดียวก็โดนรับน้องแบบจัดหนัก กรณีนโยบาย "ซิงเกิลเกตเวย์" เพราะลามไปถึงการรวมตัวกันแสดงความไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ด้วยการเข้าไปที่หน้าเว็บไซต์ เริ่มจากกระทรวงไอซีทีแล้วกดปุ่มรีเฟรช (F5) รัว ๆ จนเว็บล่ม
ร้อนถึง "อุตตม สาวนายน" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) ต้องจัดแถลงข่าวด่วนเพื่อชี้แจงข้อมูล "ประชาชาติธุรกิจ" ถอดคำต่อคำมาไว้ในบรรทัดถัดจากนี้ แต่จะเคลียร์ข้อสงสัยได้ไหม เชิญพิจารณา
- นิยามของรัฐบาลกับคำว่า ซิงเกิลเกตเวย์
ยังไม่มีนิยาม ไม่ได้มีอะไรทั้งนั้น ผมเพิ่งเข้ามาเดือนเดียว การศึกษาก็เพิ่งเริ่ม และก่อนหน้านี้ทางปลัดกระทรวงไอซีทีก็ยืนยันว่าไม่ได้มีการศึกษาอะไรไว้
สิ่งที่ทำตอนนี้คือ แนวนโยบายคือการพัฒนาสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งโซเชียลมีเดียก็เป็นส่วนหนึ่ง ไม่มีแนวความคิดที่จะสกัดการสื่อสารหรือทำอย่างโน้นอย่างนี้ คนไทยทุกคนมีสิทธิ์อย่างไรก็ยังคงเป็นเช่นนั้นมีแต่จะส่งเสริมให้ใช้ได้โดยสะดวก เพราะฉะนั้นในส่วนของไอซีที มีหน้าที่ต้องขับเคลื่อนนโยบายลงไปถึงการพัฒนาสร้างโครงข่ายพื้นฐานเพื่อรองรับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อให้ทุกคนติดต่อสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียสะดวกรวดเร็วขึ้น
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเว็บไซต์ภาครัฐมีหน่วยงานที่ดูแลโดยตรงเข้าไปดูแลให้ใช้ได้ตามปกติแต่ขอความกรุณาให้เห็นใจคนที่เข้ามาใช้ข้อมูลจริงๆ เพราะการเข้าถึงข้อมูลได้ช้ามีผลต่อชีวิต และการทำธุรกิจได้ หน้าที่หลักของภาครัฐที่นายกรัฐมนตรีเน้นให้ความสำคัญมากคือ การให้บริการประชาชนในการให้ข้อมูล ต้องให้มีการดูแลระบบและข้อมูลของภาครัฐให้มีการใช้งานได้เป็นข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำจึงอยากขอให้อย่าไปกระทบสิทธิทางกฎหมายของกันและกัน
-เป็นการแสดงออกทางสัญลักษณ์คัดค้าน
การแสดงออกเป็นสิ่งที่ดีเราเปิดกว้างในการรับฟังข้อคิดเห็นจากทุกฝ่ายและจะมีช่องทางให้แสดงความคิดเห็นได้ เป็นส่วนหนึ่งที่เราจะนำไปพิจารณา แต่การแสดงออกทางสัญลักษณ์ที่ไปกระทบคนอื่นจนเดือดร้อน ขอความกรุณาคำนึงถึงด้วย เป็นผลกระทบของคนไทยด้วยกัน ปัจจุบันช่องทางอินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางหลัก หากกระทบก็ส่งผลถึงคนไทยด้วยกัน
- ใครเป็นคนเริ่มเรื่องซิงเกิลเกตเวย์
เข้าใจว่า เป็นปรารภของท่านนายกรัฐมนตรีที่ห่วงใยเด็กและเยาวชน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางที่จะดูแล แต่ใครเป็นคนยกเรื่องขึ้นมา ผมไม่ทราบ เกิดขึ้นก่อนผมรับตำแหน่ง
- ข้อดีของซิงเกิลเกตเวย์
คำว่า ซิงเกิลเกตเวย์เป็นแค่คำ และที่นายกรัฐมนตรีห่วงใย เป็นเรื่องของเด็กและเยาวชน ที่ทุกวันนี้มีข้อมูลหลากหลายมากทางอินเทอร์เน็ต ที่ดี ๆ ก็เยอะ แต่บางส่วนก็ไม่อยู่ในกรอบที่เหมาะสม จึงเริ่มต้นมาจากตรงนั้นว่า ให้กระทรวงไอซีทีไปดูว่าจะมีแนวทางอย่างไรบ้างที่จะดูแลในเรื่องนี้ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีข้อดีข้อเสียว่าจะเป็นอย่างไร บอกแล้วว่ากำลังอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อจะให้ตอบโจทย์ทั้งในเรื่องเยาวชนและเรื่องเศรษฐกิจ
- ซิงเกิลเกตเวย์ตอบโจทย์ได้
ยังตอบไม่ได้ แนวทางที่ชัดเจนยังไม่มี เพิ่งศึกษา
- สรุปคือสังคมเข้าใจผิด ?
ถึงได้อยากจะเคลียร์ว่า ไม่ได้มีแนวคิดจะให้แค่เกตเวย์เดียว และก็จะขอความกรุณาว่าอย่าใช้คำว่าซิงเกิลเกตเวย์ เพราะเรายังไม่ได้ปักธงว่าต้องเป็นซิงเกิลเกตเวย์ และยังไม่ได้สรุปว่าเราจะใช้คำนี้
- แล้วควรใช้คำว่าอะไรแทนซิงเกิลเกตเวย์
ก็ยังศึกษาอยู่ไง ต้องเปิดกว้างความเห็นจากหลายฝ่าย ดูผลกระทบ ถึงบอกว่าอย่าเพิ่งฟันธงว่าจะใช้หรือไม่ใช้
- แต่มีคำนี้ในมติ ครม.
ตัวนี้ไม่ใช่มติ ครม. แต่เป็นข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี
- ครม.มีการพูดถึงเรื่องนี้ถึง 4 ครั้ง
น่าจะเป็นก่อนที่ผมจะเข้ามารับตำแหน่ง ตั้งแต่ผมมายังไม่มี ครม.พูดถึงเรื่องนี้
- ยืนยันว่าจะเดินหน้าศึกษาซิงเกิลเกตเวย์
ไม่ใช่ครับ ที่บอกว่า ศึกษา คือ ศึกษา เพื่อพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้ดีเพื่อประโยชน์ของประชาชนและสังคม
- จะยกเลิกไม่เดินต่อ
ยังศึกษาอยู่เลย ยังไม่ได้บอกว่าทางไหนจะไปอย่างไร บังเอิญว่า ซิงเกิลเกตเวย์ที่เกิดขึ้น เราก็ยังไม่ได้ตีความว่าคืออะไรจึงยังไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ขอย้ำว่า ไม่มีแน่ที่จะลิดรอนสิทธิ์ ไม่ว่าจะกี่เกตเวย์หรือไม่อย่างไรก็ตามที่จะไปกระทบสิทธิ์ประชาชน เราจะคุ้มครอง 100% เพียงแต่จะหาทางให้มีการใช้สิทธิ์ดียิ่งขึ้นในขอบเขตที่มีอยู่
ขอให้ประชาชนอย่ากังวลว่าจะมีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการใช้งานอินเทอร์เน็ต ในการเข้าถึงข้อมูล รัฐบาลจะไม่ดำเนินการใด ๆ เพราะมันผิดมาก ไม่ทำอยู่แล้ว ขอให้สบายใจว่าสิ่งนี้ไม่เกิดแน่ ๆ ก็ขอให้ท่านรอดู
- ยืนยันว่าจะไม่รวมท่อคอนเทนต์จากทั่วโลกเป็นท่อเดียวเพื่อคัดกรอง
ไม่มีครับ เพราะจะกระทบสิทธิเสรีภาพ
- จะศึกษาไปถึงเมื่อไร
ไม่ได้วางกรอบเวลาไว้จะศึกษาไปจนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม เมื่อเรามีข้อมูลครบถ้วนรอบด้าน ก็ค่อยดำเนินการเข้า ครม.
- ถ้าทำซิงเกิลเกตเวย์ลิดรอนสิทธิ์ประชาชน
คำว่า ซิงเกิลเกตเวย์ เป็นคำเฉย ๆนายกฯไม่ได้สั่งการเลยว่าต้องมีซิงเกิลเกตเวย์หน้าตาอย่างไร ตอนนี้ไม่มีจึงไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะไปลิดรอนสิทธิ์
- กรอบการศึกษาคืออะไร
ที่ศึกษาคือ เรากำลังผลักดันเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ฉะนั้นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานมารองรับ บรอดแบนด์ต่าง ๆ ซึ่งก็มีจุดเชื่อมต่อต่าง ๆ การศึกษายังไม่ไปถึงไหน เข้ามารับตำแหน่งได้ 1 เดือนก็เห็นเรื่องอยู่ แต่เป้าใหญ่คือ ต้องการให้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉะนั้นอย่าเพิ่งไปคิดว่าจะมีกี่เกตเวย์ หรืออย่างไร เพราะยังไม่มีเป้า ตอนนี้ก็ยังไม่มีระบบอะไร
- แต่มีแนวคิดด้านความมั่นคงด้วย
แนวคิดคือเพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจและสังคม เริ่มจากความกังวลความห่วงใยเรื่องเยาวชนของท่านนายกรัฐมนตรี ในการใช้ข้อมูลพวกนี้ ไม่ได้พูดถึงเรื่องความมั่นคงโดยเฉพาะ
- ทำให้เห็นว่าเว็บภาครัฐบอบบางเกินไป ?
ก็ต้องมีมาตรการดูแลตัวระบบให้ทำงานได้อย่างปกติ ตัวระบบออกแบบไว้สำหรับการใช้งานในสถานการณ์ปกติ แต่เหตุที่เกิดขึ้นไม่ใช่สถานการณ์ปกติ อย่างเว็บกระทรวงมีคนเข้ามาใช้งาน 6 พัน/วัน วันที่เกิดเหตุเข้าพร้อมกันเป็นแสนจึงกระทบ
- จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้
มอบหมายให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) เข้าไปประสานงานกับแต่ละหน่วยงานให้ปรับการใช้ทรัพยากรให้เหมาะสมกับสถานการณ์
- จะดำเนินการทาง กม.กับผู้ก่อกวนเว็บ
ไม่มีครับ ตอนนี้ที่เห็นคือเป็นการเข้ามาแสดงออกทางสัญลักษณ์ แต่ก็มีกรอบของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์อยู่ที่จะดำเนินการได้ แต่หน่วยงานอื่นจะไปดำเนินการก็มีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว ก็แล้วแต่เขา
********************************
หากอ่านจบแล้วก็...เข้าใจตรงกันแล้วกันเนอะ...ประชาชนชาวเนตอย่างเรา ๆ ได้แต่คาดหวังว่าคนที่จะทำโครงการนี้จะค่อย ๆ คิด และคิดดี ๆ เพราะถ้ารัฐยังฝืนดึงดันขัดใจประชาชน รัฐก็อยู่ลำบากหน่อย เนื่องจากตอนนี้ผู้นำประเทศทั่วโลกต่างรับรู้ศักยภาพของชาวเนตในประเทศตัวเองดี ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งประธานาธิปดีในสหรัฐฯ ที่ต้องสื่อสารกับชาวเนตอย่างมาก และอาจถึงขั้นชี้วัดอนาคตของผู้ลงสมัครได้เลย
หรือกรณีที่ผู้นำอินเดียเพิ่งออกมาบอกว่า ตอนนี้ตั้งแต่มีอินเตอร์เนตก็เหมือนมีการเลือกตั้งตลอดเวลา เพราะประชาชนแสดงออกได้ทุกเมื่อว่าเขาต้องการหรือไม่ต้องการสิ่งใด เพราะฉะนั้นกระแสชาวเนตสามารถชี้วัดคะแนนความนิยมของรัฐบาลได้อย่างไม่ต้องสงสัย และชาวเนตที่ว่าก็คือ คุณ ผม และประชาชนทุกคนนั้นเอง
ท้ายสุดฝากช่วยกันแชร์ change.org/singlegateway เพื่อบอกรัฐบาลว่าประชาชนชาวเนตอย่างเราจะติดตามโครงการนี้อย่างใกล้ชิด


 
Top