ภาพประกอบ แฟ้มภาพ
นักวิชาการอังกฤษวิพากษ์โรงเรียนจีน ตัดโอกาสพัฒนาบุคลิกลักษณะเฉพาะของเด็ก
เซอร์แอนโธนี เซลดอน นักวิชาการและนักประพันธ์คนหนึ่งของอังกฤษชี้ว่า ระบบการศึกษาของจีนตัดโอกาสที่เด็กนักเรียนจะได้พัฒนาบุคลิกลักษณะเฉพาะตน และจีนจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนระบบการเรียนการสอนที่เข้มงวด วิธีการเรียนรู้แบบท่องจำซ้ำไปซ้ำมา ให้เป็นการเรียนรู้แบบองค์รวมที่เปิดโอกาสให้เด็กได้พัฒนาศักยภาพตามความถนัดและความชอบของแต่ละคน ไม่เช่นนั้น เด็กจีนและระบบเศรษฐกิจจีนจะได้รับผลกระทบ
ฮันนาห์ ริชาร์ดสัน ผู้สื่อข่าวบีบีซีรายงานว่า เซอร์แอนโธนีกล่าววิจารณ์ระบบการศึกษาของจีน ในขณะที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีนยังคงอยู่ในระหว่างการเยือนอังกฤษ และดูเหมือนว่าผู้นำจีนจะตระหนักดีถึงคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับระบบการศึกษาจีน โดยเขาได้กล่าวว่า “เด็กนักเรียนจีนยังเล่นไม่มากพอ และพวกเขาควรจะได้เล่นมากกว่านี้”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเด็กนักเรียนในโรงเรียนรัฐบาลของจีนเข้าเรียนตั้งแต่ 7 นาฬิกา โดยเริ่มด้วยการออกกำลังกายตอนเช้า ซึ่งรวมถึงการฝึกไทชิ และนวดดวงตาเพื่อรักษาสุขภาพสายตา และเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียน เด็กนักเรียนมีเวลาพักทานอาหาร 2 รอบ เพราะต้องเรียนกันถึงวันละ 12 ชั่วโมง และจะต้องออกกำลังกายร่วมกันทุกวัน บางครั้ง 2 รอบต่อวัน
ส่วนการสอน ครูเน้นให้เด็กนักเรียนจดบันทึกและท่องจำ ซึ่งต่างไปจากการเรียนการสอนในอังกฤษอย่างมาก โดยในอังกฤษเป็นการเรียนแบบมีปฏิสัมพันธ์ เน้นการสร้างความสัมพันธ์ในห้องเรียน เป็นการสื่อสารตอบโต้สองทางและให้เด็กมีส่วนร่วมและตัดสินใจในการเรียนและการทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง อย่างไรก็ตามทางจีนนั้นเชื่อว่าเด็กจะเรียนได้ไวกว่าและดีกว่าหากเรียนแบบท่องจำ
ทั้งนี้ เด็กนักเรียนจีนโตมาภายใต้นโยบายลูกคนเดียว พวกเขาจึงรู้สึกว่าต้องเรียนให้ได้ดีที่สุด เพราะผู้ปกครองให้ความสำคัญมากกับความสำเร็จด้านการศึกษา นอกจากนั้นผลการสอบที่ออกมาดี ยังมีผลเชื่อมโยงถึงสถานะและความสำเร็จในสังคม รวมทั้งครอบครัวทั้งครอบครัวยังได้ตั้งความหวังไว้กับลูกเพียงคนเดียวด้วย ทั้งนี้โรงเรียนในจีนให้การศึกษาเด็กนักเรียนราว 192 ล้านคน หรือ 1 ใน 5 ของเด็กในวัยเรียนทั่วโลก
#Chinaschool
#Chinaschool
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น