ศาลยุโรปให้ประเทศอียูตรวจสอบควบคุมความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลที่ส่งไปสหรัฐฯเอง แม้ข้อมูลผ่าน Safe Harbour แล้ว ด้านเฟซบุ๊กปฏิเสธไม่มีผลกระทบ
ศาลยุติธรรมยุโรป (ECJ) มีคำตัดสินให้องค์กรท้องถิ่นของแต่ละประเทศในยุโรป เข้าตรวจสอบและวางมาตรการควบคุมความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลในยุโรปที่ส่งต่อไปยังสหรัฐฯได้ แม้ว่าข้อมูลดังกล่าวจะผ่านการรับรองความปลอดภัยจากข้อตกลงเซฟ ฮาร์เบอร์ (Safe Harbour) ที่บริษัทส่วนใหญ่ใช้กันมาก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม
ทั้งนี้ ข้อตกลงเซฟ ฮาร์เบอร์ มีขึ้นระหว่างสหภาพยุโรปและสหรัฐฯเมื่อปี 2000 เพื่อเป็นช่องทางให้กิจการต่างๆที่ต้องมีการประมวลผลข้อมูล สามารถส่งข้อมูลส่วนบุคคลจากในยุโรปไปยังสหรัฐฯได้โดยสะดวก และไม่ละเมิดต่อข้อบังคับของอียูที่ข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องได้รับการปกป้องความเป็นส่วนตัวอย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่นายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ออกมาเปิดเผยเรื่องการสอดแนมข้อมูลส่วนบุคคลโดยหน่วยงานความมั่นคงของสหรัฐฯ เมื่อปี 2013 ทำให้ข้อตกลงเซฟ ฮาร์เบอร์มีความน่าเชื่อถือลดลง เนื่องจากมีรายงานว่า ทางการสหรัฐฯได้ข้อมูลมาจากบริษัทยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีที่ใช้ข้อตกลงนี้นั่นเอง
คำตัดสินของศาลยุติธรรมยุโรปมีขึ้น หลังนักเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล ยื่นฟ้องคณะกรรมการปกป้องข้อมูลของไอร์แลนด์ เพื่อให้ตรวจสอบความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกส่งไปยังสหรัฐฯ แต่คณะกรรมการดังกล่าวปฏิเสธ โดยอ้างว่าข้อมูลได้รับการปกป้องจากข้อตกลงเซฟ ฮาร์เบอร์อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ผลของคำตัดสินดังกล่าว จะทำให้องค์กรท้องถิ่นของแต่ละประเทศในยุโรป ต้องเข้าตรวจสอบวางมาตรการรับส่งข้อมูลไปยังสหรัฐฯของตนเอง และบริษัทคู่สัญญาที่รับส่งข้อมูลระหว่างกัน ต้องทำสัญญาเรื่องมาตรการความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นแต่ละกรณีไป ซึ่งอาจสร้างความวุ่นวายโกลาหลในการบริหารข้อมูลได้
เฟซบุ๊ก ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์รายใหญ่ที่มีการส่งข้อมูลมหาศาลจากยุโรปไปยังสหรัฐฯระบุว่า คำตัดสินดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องและส่งผลกระทบต่อเฟซบุ๊ก แต่อย่างไรก็ตาม ยินดีที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบที่จะมีขึ้นใหม่ตามที่ศาลกำหนด เพื่อให้การส่งข้อมูลส่วนบุคคลไปยังสหรัฐฯมีความปลอดภัย

 
Top