เมื่อวานนี้ 6 ตุลา
*******************************

6 ตุลาในหน้าฟีดเฟซบุ๊กของแต่ละคนคงไม่เหมือนกัน สำหรับบางคนก็เป็นวันธรรมดาเหมือนวันอื่นๆ แต่สำหรับคนที่มีเพื่อนหรือรุ่นพี่ที่เคยมีประวัติศาสตร์อยู่ร่วมสมัยหรือร่วมเหตุการณ์กับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เฟซบุ๊กของเขาย่อมเต็มไปด้วยการรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นในแง่มุมต่างๆ

จากวันนั้นถึงวันนี้ เวลาเคลื่อนมา 38 ปี ร่อยรอยประวัติศาสตร์ย่อมพร่าเลือนเมื่อไม่มีการย้ำเตือนและหวนรำลึกถึง เด็กที่เกิดมาหลังปี พ.ศ. 2520 จำนวนมากไม่เคยได้ยินเรื่องราว '6 ตุลา 19' เลยด้วยซ้ำว่าเช้าวันนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง บางคนเคยได้ยินผ่านหู บางคนบอกว่า "จำได้คลับคล้ายคลับคลา ไม่แน่ใจว่า 14 ตุลา 19 หรือ 19 ตุลา 16 หรือ 6 ตุลา 14 หรืออะไรกันแน่ ว่าแต่มันเกิดอะไรขึ้นเหรอ"

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่พวกเราเติบโตขึ้นมาโดยไม่มีความทรงจำในวันที่เลวร้ายที่สุดวันหนึ่งในสังคมไทยอยู่ในหัว ห้องเรียนไม่เน้นย้ำ แบบเรียนไม่มีสอน ข้อสอบอาจจะออกมาแบบให้จำแค่วันที่ ไม่มีการวิเคราะห์ คิดตาม สรุปบทเรียนจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์แต่อย่างใด ใครจำ 14 ตุลา 16 กับ 6 ตุลา 19 ได้โดยไม่สลับกันคนนั้นก็เก่งมากแล้ว ไม่ต้องรู้หรอกว่าเกิดอะไรขึ้นในสองวันนั้นบ้าง

ด้วยความที่เราเน้นย้ำลักษณะเด่นประการหนึ่งของสังคมไทย (ในฝัน) คือ "ไทยนี้รักสงบ" และ "รักสามัคคี" เรื่องราวเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์อย่างเหตุการณ์ในเช้าวันที่ 6 ตุลาเมื่อ 38 ปีที่แล้วจึงไม่ถูกพูดถึงมากนัก ไม่ว่าจากสื่อกระแสหลัก ทีวี นิตยสาร หรือกระทั่งในโรงเรียน

เพิ่งได้อ่านสัมภาษณ์ อ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ หนึ่งในอดีตนักศึกษาผู้ก่อตั้งสภาหน้าโดม ผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์เดือนตุลาทั้งสองครั้ง อาจารย์ตั้งข้อสังเกตว่า "พอเรามาดูเหตุการณ์ เดือนตุลาฯ ทั้ง 2 ครั้ง รวมทั้งพฤษภาฯ 2535 มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ประวัติศาสตร์เหล่านี้ มันไม่มีที่ทางในสังคมไทย เพราะเหตุการณ์เหล่านี้มันไม่มีบรรยากาศของความสมานฉันท์ ความสามัคคี"

สังคมไทยจึงเลือกที่จะแกล้งลืมความขัดแย้งครั้งรุนแรง และเลือกรักษาภาพแห่งความรักสงบและรักสามัคคีเอาไว้ ประวัติศาสตร์ที่วุ่นวายอธิบายยาก ถูกย่นย่อให้เหลือเพียงไม่กี่บรรทัดในแบบเรียน ซึ่งแทบไม่มีคนสนใจด้วยซ้ำไ

ถามว่าความสงบและสามัคคีไม่ดีหรอกหรือ สองสิ่งนี้ดีแน่ หากเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการกลบฝังความขัดแย้งบางอย่างไว้ใต้พรม แล้วหลงสบายใจกับความสงบสามัคคีกันโดยไม่เรียนรู้จากอดีตเลย เมื่อฝุ่นเริ่มคลุ้งอีกครั้งก็มีคนออกมาปัดกวาดให้ฝุ่นไปซุกอยู่ใต้พรมอีกหน ทำแบบนี้มีแต่จะทำให้ฝุ่นใต้พรมหนาขึ้นเรื่อยๆ หากวันหนึ่งยกพรมขึ้นมา ฝุ่นคงจะยิ่งคลุ้งแสบตากว่าเดิมหลายเท่า

..

หลายประเทศที่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งรุนแรงครั้งใหญ่เลือกที่จะ 'ไฮไลต์' ใช้ปากกาสีโดดเด่นเน้นย้ำบรรทัดนั้นของประวัติศาสตร์เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู

เมื่อครั้งเดินทางไปทำสารคดีที่ค่ายกักกันเอาช์วิตซ์ที่โปแลนด์ ซึ่งเคยถูกใช้เป็นสถานกักกันชาวยิวเพื่อรอที่จะนำตัวไปสังหารโหดด้วยวิธีรมแก๊สพิษในสมัยที่กองทัพนาซีเรืองอำนาจ ผมได้เรียนรู้ว่า การ 'ไฮไลต์' ประวัติศาสตร์อันโหดร้ายและอัปลักษณ์นั้นส่งผลดีต่อคนรุ่นหลัง

ชาวยิวเสียชีวิต 6 ล้านคนจากเหตุการณ์ครั้งนั้น แต่ชาวเยอรมัน ชาวยิว ชาวโปแลนด์ รวมถึงชาวโลกจะไม่ลืมความโหดเหี้ยมที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกัน ผู้คนจากทั่วโลกเดินทางไปสัมผัสบรรยากาศที่ครั้งหนึ่งมนุษย์เคยเกลียดชังกันขนาดนั้นด้วยตาตัวเอง เพื่อเรียนรู้และรับรู้ด้วยหัวใจ

ผมได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ระดับหัวหน้าของพิพิธภัณฑ์เอาช์วิทซ์ เขาบอกกับผมว่า "เราเก็บรักษาประวัติศาสตร์เอาไว้ เพื่อบอกกับคนรุ่นหลังว่า เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีกแล้ว" จากการพูดคุยกับหนุ่มน้อยชาวเยอรมันคนหนึ่งถึงความรู้สึกที่เขาได้รับจากการมาที่นี่ เขาตอบว่า "ผมรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว แต่เราเลือกอนาคตได้ ผมจะไม่มีวันยอมให้มันเกิดขึ้นอีกแน่นอน"

ระหว่างเดินสำรวจค่ายกักกันซึ่งเคยเป็นสถานที่ทรมานเชลยชาวยิวและชาวยุโรปอื่นๆ ผมเห็นนักเรียนหนุ่มสาวชาวยิวจำนวนมาก เดินถือธงชาติอิสราเอลมาพร้อมกับคุณครูของเขา สถานที่แห่งนี้อาจเคยสังหารบรรพบุรุษของบางคน

ผมถามคุณครูถึงเหตุผลที่พาเด็กๆ มาทัศนศึกษาในสถานที่เช่นนี้ คุณครูตอบผมว่า "เราต้องการให้เขาได้มาซึมซับถึงความเกลียดชังที่มนุษย์เคยมีต่อกัน ถึงขั้นจะฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ให้ไม่ต้องอยู่ร่วมโลกกัน เราอาจให้เขาได้เรียนรู้ในความผิดพลาดนี้ เพื่อที่เขาจะได้โตขึ้นเป็นคนที่ไม่กระทำสิ่งเหล่านี้กับเพื่อนมนุษย์"

ผมหันไปถามนักเรียนเหล่านั้น หลายคนตอบตรงตามเจตนาของคุณครูที่พามา แต่มีคนหนึ่งที่มีแววตาเกรี้ยวกราด สัมผัสได้ถึงความโกรธแค้น เขาตอบผมว่า "ผมได้เรียนรู้ว่า มนุษย์เราโหดร้ายต่อกันมาก เราไม่ควรเกลียดชังกันขนาดนี้ แต่ไม่เป็นไร วันนี้อิสราเอลมีกองทัพของตัวเองแล้ว เราไม่กลัวใครแล้ว" แน่นอน ผมสัมผัสได้ถึงความสับสนในใจของเขา เมื่อหันไปมองคุณครู คุณครูพยักหน้าให้ผม ยกคิ้วขึ้น ทำหน้าทำนองว่า--นี่เป็นการบ้านของเขาต่อไป

...

แน่นอน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในดินแดนของอิสราเอลและปาเลสไตน์ก็ยังคงวนลูปอยู่กับความขัดแย้งและความรุนแรง แต่ผมเชื่อว่า มีหลายคนที่พยายามสอนและบอกเล่าเรื่องราวแย่ๆ ในประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ เพื่อช่วยกันลดเหตุการณ์รุนแรงในอนาคต

แต่การที่เราไม่เรียนรู้จากอดีตเลย คงเป็นเรื่องยากที่จะคาดหวังว่าเราจะไม่กระทำรุนแรงต่อกันและกันอีก

เช้าวันที่ 6 ตุลา เมื่อ 38 ปีที่แล้ว คนไทยไล่ฆ่าคนไทยด้วยกันเองอย่างโหดเหี้ยมทารุณ มีการจับนักศึกษาแขวนคอแล้วฟาดด้วยเก้าอี้ไม่ยั้งมือ โดยที่มีคนจำนวนมากยืนมุง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ บางคนมีรอยยิ้มอยู่บนใบหน้า

แน่นอน มันเป็นความจริงที่เจ็บปวด แต่เมื่อรู้แล้ว รวมทั้งศึกษาเรื่องราวว่ามันเกิดขึ้นจากอะไร เราย่อมช่วยกันตระหนักว่าเหตุการณ์อัปลักษณ์เช่นนี้จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก

สำหรับคนที่เกิดในรุ่นเดียวกันกับผม และคนที่เกิดหลังจากนั้น หลายคนอาจไม่เคยเห็นภาพนี้ด้วยซ้ำ แน่ละ มันไม่สวยงาม มันไม่สมานฉันท์ มันไม่สามัคคี มันไม่แสดงออกว่าคนไทยรักกัน แต่มันคือความจริง

ถึงเวลาหรือยังที่เราจะยอมรับความจริง และเรียนรู้จากมัน

หรือเราจะต้องปล่อยให้ความเกลียดชังรุนแรงแบบนี้เกิดขึ้นอีกครั้งแล้วครั้งเล่า?


 
Top