งานรำลึกตากใบ: นักศึกษาใต้เรียกร้องให้ตั้งศาลสิทธิมนุษยชนอาเซียน
“ ……..
ความปราชัยคือคำตอบ
ความอยุติธรรมเต็มลานดิน
เม็ดทรายนับล้านเจ็บปวด
เหม็นคาวเลือดหยดเข้ม
ฝนกระสุนที่ป่าเถื่อน
เดือนอันศักดิ์สิทธิ์
ไม่มีอากาศธาตุให้ได้หายใจ
เขาจึงตาย
เพราะขาดอากาศหายใจ”
ความปราชัยคือคำตอบ
ความอยุติธรรมเต็มลานดิน
เม็ดทรายนับล้านเจ็บปวด
เหม็นคาวเลือดหยดเข้ม
ฝนกระสุนที่ป่าเถื่อน
เดือนอันศักดิ์สิทธิ์
ไม่มีอากาศธาตุให้ได้หายใจ
เขาจึงตาย
เพราะขาดอากาศหายใจ”
มันเป็นส่วนหนึ่งของบทกวีชื่อ “อากาศแล้งที่ตากใบ” ซึ่งงามศุกร์ รัตนเสถียร จากศูนย์สันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล นำไปอ่านในงานเสวนา “11 ปีตากใบ ความจริงที่สูญเปล่า ความหวังและชะตากรรมสันติภาพปาตานี” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 ต.ค. เป็นบทกวีจากหนังสือ “ถึงเธอ ปาตานี” โดยอับดุลเลาะ วันอะฮ์หมัด
บทลงท้ายที่ว่า “เพราะขาดอากาศหายใจ” เป็นข้อสรุปที่มาจากคำสั่งไต่สวนการตายผู้เสียชีวิตซึ่งได้กลายมาเป็นข้อความสำคัญที่หลายคนจดจำเป็นสัญญลักษณ์ถึงปัญหาความไม่เป็นธรรมที่มีการกล่าวถึงกันอีกครั้งในงานรำลึกเหตุการณ์ที่มีคนตาย 85 คนเพราะการสลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบเมื่อ 25 ต.ค.2547 ความตายของคนจำนวนมากเกิดขึ้นขณะถูกขนย้ายด้วยการที่ต้องนอนทับซ้อนกันในรถบรรทุกระหว่างทางจากตากใบถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร
อัรฟาน วัฒนะ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานีบอกว่า การจัดงานหนนี้ไม่ใช่เพราะต้องการตอกย้ำความเจ็บปวด แต่เพื่อจะพูดความจริงว่าในอดีตได้เกิดอะไรขึ้นกับคนกลุ่มหนึ่ง เขาบอกว่า กระบวนการยุติธรรมในปัจจุบันยังไม่ตอบโจทย์ให้คนในพื้นที่ ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่เกิดขึ้นยิ่งกระตุ้นให้มีการต่อสู้มากขึ้นเรื่อยๆ แม้กับคนที่ไม่ถูกกระทำโดยตรง เพราะเหตุการณ์หนนั้นย้ำให้เห็นว่าเพื่อนร่วมชาติพันธุ์โดนกดขี่ และทำให้คนในพื้นที่ไม่ไว้ใจว่ากระบวนการยุติธรรมจะช่วยพวกเขาได้ อัรฟารตั้งคำถามว่า “กระบวนการยุติธรรมไทยจะมีแค่ ยิง ตาย จ่าย จบ หรือ มันต้องมีมากกว่านี้”
อัรฟานชี้ว่าสิ่งที่เขาอยากเห็นคือการที่สังคมช่วยกันเปิดพื้นที่ให้กับคนที่ต่อสู้ด้วยแนวทางรุนแรงได้หันกลับมาใช้วิธีการที่ไม่รุนแรง สังคมต้องสนับสนุนให้รัฐและนักสู้ที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนให้หันหน้าเข้าคุยกันเพื่อลดความสูญเสีย ในขณะที่อีกด้านอัรฟานระบุว่า การที่กระบวนการยุติธรรมของไทยไม่ตอบโจทย์สิ่งที่เกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องผลักดันบางเรื่องออกสู่เวทีต่างประเทศ เขาจึงอยากเห็นสังคมไทยร่วมกันผลักดันรัฐบาลเพื่อให้สัตยาบันรับรองศาลอาญาระหว่างประเทศ และผลักดันให้มีการจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชนอาเซียน รวมทั้งให้ช่วยกันเฝ้าจับตาและตรวจสอบเรื่องของสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางการเมือง
ส่วนงามศุกร์ รัตนเสถียร นักสันติวิธีบอกว่า กรณีของตากใบนั้นได้มีการบันทึกเรื่องราวความทรงจำของครอบครัวของเหยื่อบางส่วน แต่ยังมีจำนวนน้อย เธอบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจะอยู่ในความทรงจำของคนที่เกี่ยวข้องตลอดไปแม้ว่าหลายคนไม่ต้องการพูดถึงอีก ในขณะที่สังคมภาพรวมไม่สนใจเพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่ลูกหลานของตน “เราปล่อยให้ความรุนแรงเกิดขึ้น และเรายังไปลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ด้วยกันปล่อยให้มีการใช้ความรุนแรง อยากจะให้ทุกคนได้ทบทวน ตราบใดที่เราปล่อยให้มันเกิด เราจะไม่สามารถเชื่อมโยงได้ ขณะที่จริงๆแล้วเรามีความเป็นมนุษย์ และเรายังมีความสัมพันธ์ที่มีต่อกันฉันเพื่อนมนุษย์”
งามศุกร์ชี้ว่า กรณีตากใบเป็นบาดแผลสังคม ไม่ใช่แค่ของครอบครัว และไม่ว่าคนที่ตายไปแล้วหรือคนที่ยังอยู่ต่างได้รับผลกระทบอาจเรียกได้ว่าตายทั้งเป็น เธอเสนอให้มีการเก็บรวบรวมความทรงจำของคนที่เคยมีประสบการณ์ในเหตุการณ์ตากใบเพื่อเป็นบทเรียนในอนาคตและคนเหล่านั้นอาจจะมีทางออกอะไรใหม่ๆ รวมทั้งสังคมควรแลกเปลี่ยนกันได้เรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นหลายกรณีไม่เพียงกรณีตากใบ ทั้งนี้เพื่อผลักดันให้มีการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม เธอบอกว่าการหวังพึ่งความยุติธรรมจากศาลก็ยังไม่พอ ต้องมองหาความยุติธรรมในรูปแบบอื่นด้วย และการเยียวยาด้วยเงินไม่ใช่คำตอบ การเรียกร้องความเป็นธรรมจึงไม่ควรจำกัดวงแค่ในกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น
นักสันติวิธีจากมหาวิทยาลัยมหิดลชี้ว่า คนทำงานแก้ปัญหาในสามจังหวัดควรเข้าใจบริบทและการเป็นพหุสังคม ขณะเดียวกันเคารพประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ของชาติกับของในพื้นที่ไม่จำเป็นต้องเป็นอันเดียวกัน และควรจะแตกต่างกันได้ ไม่มีใครถูกหรือผิด แต่ละฝ่ายล้วนมีความทรงจำของตนเองได้ อีกประการหนึ่งเธอชี้ว่า ความเข้าใจในเรื่องความขัดแย้ง ความรุนแรงและสันติภาพของคนแต่ละฝ่ายไม่เหมือนกัน สันติภาพของรัฐคือการไม่มีความรุนแรง ขณะที่คนในพื้นที่ต้องการสันติภาพที่มีศักดิ์ศรี มีอัตลักษณ์ของตน และความรุนแรงไม่ใช่แค่เรื่องของการฆ่ากันเท่านั้น การกระทำรุนแรงต่อกันด้วยการบังคับไม่ยอมรับก็เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างเช่นการถูกบังคับเป็นต้น ขณะเดียวกันการต่อสู้ด้วยสันติวิธีทำให้สูญเสียได้เช่นในกรณีฮัจยีสุหลง แต่สิ่งที่คนในสังคมต้องเข้าใจก็คือ “เราสามารถพูดเรื่องฮัจยีสุหลงได้เพราะเขาไม่ใช้ความรุนแรง แม้ว่าจะถูกทำให้ตายไป เราคนรุ่นหลังพูดได้เต็มปากว่า มลายูมุสลิมเคยใช้สันติวิธีแต่มันไม่ได้ผล แต่เราทุกคนจะต้องรับผิดชอบ เพราะการต่อสู้ไม่ใช่ของคนๆเดียว ต้องช่วยกัน”
ผู้ร่วมวงเสวนาอีกราย เอก กมล นักวิชาการที่ไม่ขอบอกสังกัดเพราะความอ่อนไหวของประเด็นบอกว่า เรื่องราวที่หาทางออกไม่ได้มีหลายเรื่อง ขณะที่เวลานี้มีการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ ทุกฝ่ายอ้างว่าทำเพื่อสันติภาพ แต่สันติภาพจะเริ่มขึ้นได้ต้องเริ่มจากการมีเสรีภาพ เพราะต้องมีภราดรภาพไม่เช่นนั้นไม่อาจทำให้เกิดสันติสุขได้ เขาชี้ว่าปัญหาในวันนี้ไม่ใช่ปัญหาของคนในพื้นที่เพราะคนที่นั่นอยู่ร่วมกันได้ แต่ที่เป็นปัญหาคือคนจากนอกพื้นที่ที่เข้าไปแก้ปัญหา ทางออกคือต้องถอนคนนอกออกปล่อยให้คนในจัดการปัญหากันเอง
ในช่วงปิดงานกลุ่มนักศึกษาผู้ทำกิจกรรมจากภาคใต้นำโดยสหพันธุ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทยและเครือข่ายได้อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ไทยให้สัตยาบันรับรองศาลอาญาระหว่างประเทศ และเสนอให้มีการจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชนอาเซียน
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น