กลยุทธ์ตาเฒ่ามีชัยคือดึงเช็งเนิบนาบเข้าไว้ บอกจะไปเทียบรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 17 เลยแซวซะเลยว่า รธน.17 มีมาตราห้ามนิรโทษรัฐประหารนะ จะไปเอามาทำไม เอารัฐธรรมนูญ 40 นั่นแหละเพราะวิกฤติเริ่มที่นั่น

แล้วอย่าพูดเลย ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ประชาธิปไตยคืออะไร คือนิติรัฐ เสมอภาค เท่าเทียม ยุติธรรม แน่ละวัฒนธรรมไทยควรเคารพผู้ใหญ่ แต่เมื่อเป็นกติกาต้องเสมอภาค "หนึ่งคนหนึ่งเสียง" เท่ากัน ต้องยุติธรรม หรือจะบอกว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ คือ "ผู้ใหญ่ทำอะไรไม่เคยผิด"

แล้วไอ้สภาขับเคลื่อนปฏิรูปนี่นะ ตั้งมาอีก 200 คน 20 เดือน ถามหน่อยสิ 250 คนดีเด่นดัง ใช้งบไป 700 กว่าล้าน ทำข้อเสนอครอบจักรวาล 500 กว่าข้อ ปฏิรูปถึงปี 2575 เอาไปทิ้งไหนแล้ว นี่ตั้งมาอีก แม่-คงปฏิรูปถึงปี 2600 มั้ง

00000

“มาตรา 4 การนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์หรือรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้”
นั่นคือบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2517 ที่ อ.มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานบริษัทโซลูชั่นคอนเนอร์ และประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จะนำมาเจาะเวลาหาข้อดี ย้อนอดีต 41 ปีตั้งแต่ 2517 ถึง 2558 ก็ไม่ทราบว่าท่านจะเอามาตรานี้ด้วยหรือเปล่า “ล้มเจ้า” กับ “ฉีกรัฐธรรมนูญ” ห้ามนิรโทษกรรม แม้ในทางปฏิบัติไม่มีความหมาย เพราะ 2 ปีให้หลังก็เกิดรัฐประหารนองเลือด “นิรโทษตัวเอง” อยู่ดี โดย อ.มีชัยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติอยู่ด้วย

รัฐธรรมนูญ 2517 ที่ยกร่างหลัง 14 ตุลา 2516 มีประเด็นก้าวหน้าเยอะนะครับ เช่นเป็นฉบับแรกที่เขียนให้หญิงชายเท่ากัน เป็นฉบับแรกที่นายกฯ ต้องมาจากเลือกตั้ง แต่ประเด็นเหล่านั้นก็ยกมาไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 หมดแล้ว เหลือแต่มาตรา 4 นี่แหละ ไม่มีใครเขียนอีกเลย

ในแง่กฎหมาย รัฐธรรมนูญ 2517 จึงไม่มีอะไรให้กลับไปค้นหา มีแต่ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ คือเจตนารมณ์ “ล้มเผด็จการ” 14 ตุลา 2516 ซึ่งตลกไปหน่อยมั้ง ถ้าจะกลับไปอ้างอิง

รัฐธรรมนูญหลังจากนั้น ไม่ว่า 2521, 2534 ก็ถอยหลังไปทั้งสิ้น ซ้ำเป็นชนวนนองเลือดเมื่อพฤษภา 35 กระทั่งต้องแก้ให้นายกฯ มาจากเลือกตั้ง และนำไปสู่ “ปฏิรูปการเมือง” ชูธงเขียวแก้ทั้งฉบับเมื่อ 2540

ซึ่งแน่ละ รัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้เกิดปัญหาใหม่ รัฐบาลจากเลือกตั้งเหลิงอำนาจ เกิดการต่อต้านนำไปสู่รัฐประหาร แต่ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ยิ่งทำให้ขัดแย้งจนฆ่ากันตาย

ฉะนั้น ท่านจะต้องกลับไปจุดเทียนเวียนอดีตทำไม ในเมื่อวิกฤตเกิดจาก 2540 ก็ต้องแก้ที่ 2540 เพราะเป็นรัฐธรรมนูญรวมคุณูปการจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในอดีต เพียงแต่เกิดปัญหาใหม่ ก็ต้องกลับไปแก้ตรงนั้น โดยโยน 2550 ทิ้งไปเพราะพิสูจน์แล้วว่าแก้ผิดทาง

ผิดทางอย่างไร คือมองว่ารัฐบาลมีอำนาจมากไป แทนที่จะลดอำนาจรัฐ กระจายอำนาจให้ประชาชน กลับเพิ่มอำนาจ “ตุลาการภิวัตน์” ตัดสินการเมืองจนขี่หัวเหนือเจตนาประชาชน

คำถามสำคัญคือ คณะกรรมการชุดนี้ต่างอะไรกับคณะกรรมาธิการที่หงายท้องไปแล้ว นอกจากท่านประธานมีชัยรู้จักยิ้มแย้มแจ่มใส มีอารมณ์ขัน ตีกรรเชียงได้ ไม่วางตัวเป็นศาสดาอหังการ ขณะที่กรรมการส่วนใหญ่ก็เป็น “นักเทคนิค” ระดับคร่ำหวอด ชนชั้นใดให้เขียนกฎหมายก็แน่ไซร้ได้ตามนั้น รับประกันไม่ทะลุกลางปล้องไม่มุ่งแต่ประเด็นของตัวเอง

กระนั้นพอเริ่มต้นท่านก็ท่องมาตรา 35 รัฐธรรมนูญชั่วคราว พูดจาเหมือนเดิมอีกละว่าไม่เอา “ประชาธิปไตยแบบฝรั่ง” ต้องเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ “วัฒนธรรมไทย” ซึ่งเป็นวาทกรรมอันสวยงาม แต่ถามหน่อยคืออะไร อ.มีชัยเป็นนักนิติศาสตร์ ตอบหน่อยได้ไหมว่าความยุติธรรมแบบฝรั่ง กับความยุติธรรมแบบไทยๆ ต่างกันอย่างไร หลักนิติรัฐ หลักสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ เสมอภาค เท่าเทียม “หนึ่งคนหนึ่งเสียง” แบบไทยๆ ต่างกับฝรั่งอย่างไร

ใช่เลย เราควรรักษาวัฒนธรรมไทย ผู้น้อยควรเคารพผู้ใหญ่ ยกมือไหว้ ฟังคำแนะนำ แต่จะเอาไปยุ่งเกี่ยวกับหลักนิติรัฐ ความเสมอภาคความยุติธรรมไม่ได้ ในตัวบทกฎหมาย ในรัฐธรรมนูญ ทุกคนเท่ากัน หรือท่านจะบอกว่าแบบไทยๆ ต้องให้มีอภิสิทธิ์ แบบไทยๆ คือ “ผู้ใหญ่ทำอะไรก็ไม่ผิด”

“หลักการ” ไม่มีคำว่าฝรั่งหรือไทย มีแต่บอกว่าอะไรที่แบบไทยๆ ขาดหายไป ก็ต้องทำให้ได้ตามหลัก

ฉะนั้นถ้าว่ากันจริงๆ การยกร่างรัฐธรรมนูญไม่เห็นยาก อยู่ที่ผู้มีอำนาจยอมรับหลักการหรือไม่ อยู่ที่สังคมไทยเห็นพ้องหรือไม่ หน้าที่คณะกรรมการคือต้องเสนอสติปัญญาใหม่ๆ ให้สังคมพ้นจากวังวน “เลว ชั่ว โกง ไม่เอาเลือกตั้ง” หาวิธีให้ประชาชน “ตาสว่าง” มีส่วนร่วมใช้อำนาจตรวจสอบอำนาจ ภายใต้หลักอำนาจมาจากเลือกตั้ง ซึ่งตัวอย่างในโลกมีถมไป
แต่ถ้าจะพายเรือวนจนครบ 6 เดือนก็ไม่ยากเหมือนกัน เพียงตั้งคำถามให้คิด ถ้าครบ 6 เดือนไม่มีอะไรใหม่ ครบ 6 เดือนไม่ต่างจากฉบับที่แล้ว หรือครบ 6 เดือนยังหาจุดที่สังคมยอมรับไม่ได้ คสช.จะทำอย่างไร การ restart ใหม่ไปเรื่อยๆ ไม่ง่ายนะครับ

ก็เหมือนกับ restart สภาขับเคลื่อน ซึ่งไม่ทราบมีอะไรให้ทำอีก ในเมื่อสภาปฏิรูป 250 ท่านที่แซ่ซ้อง “ดีเด่นดัง” ใช้งบประมาณไปตั้ง 716 ล้านบาท ทำข้อเสนอครอบจักรวาล 505 ข้อ เสนอกฎหมายใหม่เป็นร้อยฉบับ เสนอตั้งหน่วยงานร้อยหน่วยงาน ใช้เวลาปฏิรูปนานถึง พ.ศ.2575

นี่ สปท. 200 ท่านก็จะอยู่อีก 20 เดือน เผลอๆ จะคิดสร้างสรรค์การปฏิรูปไปถึง พ.ศ.2600

source : FB Atukkit Sawangsuk & http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1444398297

 
Top