อัพเดทภาพ
นักวิจัยไทยค้นพบกล้วยป่าพันธุ์หายาก อยู่ริมตะเข็บชายแดน ตั้งชื่อ “กล้วยศรีน่าน” เผยมีน้อยต้นจนไม่กล้าเปิดเผยพิกัดจุดค้นพบกลัวสูญพันธุ์
เวบไซต์ข่าววิทยาศาสตร์ ZME Science และ Sci-news.com ตีพิมพ์ข่าวที่นักวิจัยด้านพฤกษศาสตร์ไทยจากมหาวิทยาลัยมหิดลค้นพบกล้วยป่าพันธุ์ใหม่ซึ่งเพิ่งได้รับการตั้งชื่อเมื่อต้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมา กล้วยป่าที่ว่านี้มีชื่อว่ากล้วยศรีน่าน เพราะพบครั้งแรกในพื้นที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน และพบเพียงที่เดียวในจำนวนที่น้อยมากคือมีแค่ 5-10 กอเท่านั้น ทั้งยังอยู่ในพื้นที่ป่าที่มีแนวโน้มจะถูกบุกรุกทำลายจึงเป็นพืชที่มีโอกาสจะสูญพันธุ์สูงมาก กล้วยศรีน่านเป็นพืชชนิดแรกที่ตั้งชื่อตามจังหวัดน่าน ส่วนชื่อทางพฤกษศาสตร์คือ Musa nanensis ซึ่งมีคำว่าน่านอยู่ในชื่อด้วย
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล ดร.ศศิวิมล แสวงผล ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ เปิดเผยว่า ลักษณะของกล้วยศรีน่าน ต้นมีขนาดกลางสูงราว 180 ซ.ม. ปลีสีแดงส้ม ก้านปลีขนานพื้นแล้วโค้งขึ้น แตกต่างจากกล้วยทั่วไปที่มักมีปลีห้อยลง หรือกล้วยประดับที่มักมีปลีตั้งขึ้น นอกจากนั้นมีลักษณะพิเศษอีกอย่างคือมีเกสรเพศผู้ 6 อัน ขณะที่กล้วยชนิดอื่นในโลกมี 5 สำหรับผลของกล้วยนี้มีเมล็ดสีดำจำนวนมากทำให้มีเนื้อน้อย กล้วยศรีน่านเป็นกล้วยชนิดที่หายากมาก
ดร.ศศิวิมลกล่าวว่าในประเทศไทยมีกล้วยป่าพื้นเมืองราว 10 ชนิด เช่น กล้วยหก กล้วยแข้ กล้วยบัวสีส้ม กล้วยศรีนรา กล้วยนวล กล้วยผา เป็นต้น กระจายพันธุ์อยู่ทุกภาคแต่ว่าถูกทำลายไปค่อนข้างมาก กล้วยศรีน่านเป็นชนิดใหม่ที่ค้นพบล่าสุด “ที่ผ่านมาเราพบที่เดียวคือที่ป่าใกล้ชายแดนที่น่านและมีจำนวนน้อยมาก ซึ่งถ้าหมดก็หมดเลย” ดร.ศศิวิมลบอกว่า ปกติกล้วยป่าส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากคนทั่วไปทั้งนี้เนื่องจากมีเมล็ด แต่กล้วยเหล่านี้เป็นพืชชนิดแรกๆที่จะขึ้นในป่าหลังจากที่เกิดไฟป่า เป็นพืชที่มักขึ้นในที่ชุ่มชื้นของป่าเปิด กล้วยป่าเหล่านี้เป็นอาหารของสัตว์ป่าเช่นนก ค้างคาวหรือแมลง จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ที่ควรได้รับการอนุรักษ์
“สิ่งมีชีวิตเกี่ยวพันกันหมด ถ้าอนุรักษ์ไว้ก็มีคุณค่าทั้งสิ้นเพราะทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกันและกัน” พร้อมกับระบุว่า การอนุรักษ์ที่ดีที่สุดก็คือการอนุรักษ์ป่านั่นเอง
การค้นพบกล้วยศรีน่านครั้งแรกคือเมื่อปี พ.ศ. 2545 โดย ดร. ปรัชญา ศรีสง่า หัวหน้าส่วนหอพรรณไม้ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ จากนั้น 10 ปีต่อมาได้แจ้งให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศศิวิมล โฉมเฉลา แสวงผล อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าไปตรวจสอบและพบว่าเป็นกล้วยชนิดใหม่ จึงได้รวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมทั้งด้านสัณฐานวิทยา และกายวิภาคศาสตร์ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปวีณา ไตรเพิ่ม เพื่อยืนยันความแตกต่างจากกล้วยป่าชนิดอื่น และตีพิมพ์ชื่อชนิดใหม่ในวารสารซิสเตมาติก โบตานี (Systematic Botany) ปีที่ 40 ฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2558
ขอขอบคุณ ดร.ศศิวิมลและคณะสำหรับข้อมูลและภาพ
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น