การแทรกแซงของรัสเซียในซีเรีย ยกระดับวิกฤตให้ซับซ้อนและยุ่งยากขึ้นไปอีก
จิม เมียวร์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีด้านตะวันออกกลางชี้ว่า ทันทีที่รัสเซียเสริมกำลังทหารที่ฐานทัพอากาศใกล้เมืองลาตาเกียในซีเรีย และลำเลียงยุทโธปกรณ์รวมทั้งทหารและเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงไปที่นั่น ชัดเจนว่ารัสเซียได้วางหมากเพิ่มอีกตัวต่อสถานการณ์ในซีเรีย การแทรกแซงด้วยการเปิดฉากโจมตีทางอากาศนั้น เป็นเกมที่ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป ทั้งยังยกระดับวิกฤตให้ยุ่งยากไปอีกขั้น รัสเซียได้ส่งสารที่ชัดเจนออกมาแล้วว่า รัสเซียจะไม่ปล่อยให้รัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดล่ม
ก่อนหน้านี้ดูเหมือนว่า ปธน. อัล-อัสซาด ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เนื่องจากมหาอำนาจชาติตะวันตกหลายชาติร่วมมือกับประเทศในภูมิภาค หนุนหลังฝ่ายกบฏที่ต่อต้านเขา ขณะที่กลุ่มกบฏที่สู้รบในภาคพื้นดินก็ผนึกกำลังกันเหนียวแน่นขึ้น โดยมีสหรัฐฯ ให้การสนับสนุน ทั้งฝึกฝน ติดอาวุธและให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับกลุ่มกบฏที่ต่อต้านเขา ส่งผลให้กลุ่มกบฏสามารถยึดพื้นที่ทางเหนือและใต้ของประเทศได้หลายแห่ง ถึงขั้นที่ปธน. อัล-อัสซาดยอมรับในการแถลงสุนทรพจน์ครั้งหนึ่งว่า กองทัพของเขามีปัญหาด้านกำลังพล และจำเป็นต้องถอนกำลังออกมาจากบางพื้นที่เพื่อรักษาบริเวณที่สำคัญกว่า ในช่วงนั้นมีฝ่ายที่มองว่านั่นเป็นจุดผกผันที่ปธน. อัล-อัสซาดกำลังจะค่อย ๆ เสียอำนาจการควบคุมประเทศ แต่ต่อมาอิหร่านซึ่งเป็นพันธมิตรของซีเรีย ได้เริ่มให้ความช่วยเหลือทางทหารและหนุนให้กลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ และนักรบพันธมิตรนิกายชีอะห์ เข้าร่วมการสู้รบทางภาคพื้นดินเพื่อช่วยปธน. อัล-อัสซาด ขณะที่รัสเซียเองก็เพิ่มความช่วยเหลือทางทหารด้วย
แต่ในตอนนั้นโอกาสที่รัฐบาลปธน. อัล-อัสซาดจะยื้อต่อไปให้นานที่สุด มีไม่มาก ทั้งนี้เนื่องมาจากลุ่มฮิซบอลเลาะห์เองก็มีศักยภาพที่จำกัด และดูเหมือนว่าทั้งอิหร่านและรัสเซียยังหาทางพลิกสถานการณ์ไม่ได้ สำหรับชาติตะวันตกในตอนนั้น มองว่าเป็นโอกาสงามที่จะรุกเพื่อให้มีการถ่ายโอนอำนาจในซีเรีย เพราะในขณะที่อิหร่านกับรัสเซียกำลังหาทางปกป้องผลประโยชน์มหาศาลของตนในซีเรีย ทั้งสองชาติอาจยอมเฉือนบางส่วนทิ้งไป โดยยอมเปิดทางให้ปธน. อัล-อัสซาดและคนใกล้ชิดลงจากอำนาจ เพื่อให้มีการถ่ายโอนอำนาจและรื้อโครงสร้างการปกครองให้คนชุดใหม่เข้าไปบริหารประเทศแทน
แต่การแทรกแซงครั้งล่าสุดของรัสเซียทำให้สถานการณ์พลิก รัสเซียต้องการสร้างสมดุลของขั้วอำนาจ ที่ก่อนหน้านี้เอียงไปข้างชาติตะวันตกและพันธมิตรมากเกินไป และเพื่อให้เกิดดุลยภาพ จำเป็นที่จะต้องมีทหารจำนวนมากอยู่ในภาคพื้นดิน โดยเรื่องนี้ทางรัสเซียได้บอกปัดไปแล้วว่าจะไม่ส่งทหารราบเข้าไป ซึ่งเท่ากับว่าสถานการณ์ในซีเรียจะยืดเยื้อออกไปอีก และจะมีความเสียหายเพิ่มขึ้นจากการคุมเชิงที่ห้ำหั่นกันไม่ลงระหว่างพันธมิตรฝ่ายตะวันตกกับฝ่ายรัสเซีย รัสเซียจะยังคงใช้กำลังทางอากาศ เพื่อสนับสนุนกองทัพอากาศและหน่วยทหารราบของซีเรีย เฉกเช่นเดียวกับที่สหรัฐฯ และพันธมิตรให้การหนุนหลังชาวอิรักและซีเรียเชื้อสายเคิร์ดอยู่
การรุกของรัสเซียในครั้งนี้ทำให้สหรัฐฯ กับพันธมิตรตั้งรับแทบไม่ทัน และนับว่าเป็นการก้าวถอยหลังของกระบวนการคลี่คลายวิกฤตด้วยการเจรจา แต่ผู้สื่อข่าวชี้ว่า ไม่ควรลืมว่าทั้งพันธมิตรที่มีสหรัฐฯ เป็นแกนนำและพันธมิตรฝ่ายรัสเซีย ต่างมีเป้าหมายด้านยุทธศาสตร์ร่วมกัน คือการปราบและกำจัดกลุ่มนักรบของรัฐอิสลาม (ไอเอส) ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายไม่ต้องการให้ไอเอสยึดซีเรียได้
ภาพประกอบ (แฟ้มภาพ) - ภาพแรก เครื่องบินรบรัสเซีย, ภาพ 2 ปธน. ปูติน ผู้นำรัสเซียกับปธน. โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ, ภาพ 3 ทหารซีเรีย, ภาพ 4 ปธน. อัล-อัสซาด