เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ตนอ่านข่าวน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ฟ้องนายตระกูล วินิจนัยภาค อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) กับพวกรวม 4 คน ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ต่อมาอดีตอสส. ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊คส่วนตัว ตอบโต้ทำนองว่า คดีจำนำข้าวท่านต้องทำตามหน้าที่เพื่อแทนคุณแผ่นดิน ซึ่งตนเห็นว่าคดีนี้มีความผิดปกติในหลายเรื่องและหลายขั้นตอน ดังนี้ 

ข้อ 1. คดีนี้เป็นคดีแรกของประเทศไทยหรืออาจเป็นคดีแรกของโลกก็ได้ ที่หัวหน้ารัฐบาลถูกดำเนินคดีจากการดำเนินนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ การรับจำนำข้าวที่จริงคือการแทรกแซงตลาด (market intervention) ที่ทำกันมาทุกรัฐบาลรวมถึงรัฐบาลคสช. ที่เพิ่งอนุมัติเงินงบประมาณไปแทรกแซงราคายางพารารวมถึงการอนุมัติเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท 

ข้อ 2. การแทรกแซงตลาดเพื่อเป็นการคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรให้สินค้าเกษตรได้รับผลตอบแทนสูงสุด เป็นแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจที่รัฐธรรมนูญปี 2550 บังคับให้รัฐต้องดำเนินการตามมาตรา 75 วรรคแรก มาตรา 84 และ 84(8) และถือเป็นนโยบายของ "คณะรัฐมนตรี" ที่ต้องแถลงต่อรัฐสภาตามมาตรา 75 วรรคสอง การดำเนินตามแนวนโยบายดังกล่าวจึงชอบและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญทุกประการ คำถามคือถ้านโยบายนี้ผิดกฎหมายจนต้องถูกดำเนินคดี เหตุใดจึงดำเนินคดีกับน.ส.ยิ่งลักษณ์เพียงคนเดียวทั้งที่เป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรี เหตุใดหัวหน้ารัฐบาลคนอื่นๆ ที่ช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการแทรกแซงตลาดเหมือนกันรวมทั้งหัวหน้าคสช. ด้วยกลับไม่ถูกดำเนินคดี 

ข้อ 3. เมื่อ ป.ป.ช. ได้ส่งสำนวนการไต่สวนมาให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้มีการตั้งคณะทำงานของอัยการรวม 10 คนเพื่อพิจารณาในเรื่องนี้โดยมีนายวุฒิพงศ์ วิบูลย์พงศ์ รองอสส. เป็นหัวหน้า โดยคณะทำงานเห็นว่าสำนวนที่ส่งมามีข้อไม่สมบูรณ์รวม 4 ประเด็นสำคัญ จึงมีหนังสือแจ้งข้อไม่สมบูรณ์ไปยัง ป.ป.ช. ซึ่งก็ได้ตั้งคณะทำงานรวม 10 คนเท่ากับอัยการเพื่อมาหาข้อสรุปร่วมกัน ขั้นตอนนี้ มีความแปลกประหลาดเกิดขึ้นคือ 
(1) มีการนัดประชุมร่วมคณะทำงานสองฝ่ายครั้งแรก แต่หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายอัยการกับพวกรวม 7 ท่านไม่ทราบจึงไม่ได้ไปประชุม มีเพียงอัยการ 3 ท่านที่ถูกน.ส.ยิ่งลักษณ์ฟ้องไปประชุมกับ ป.ป.ช. ทำให้ครบองค์ประชุม หากคณะทำงานของอัยการทุกท่านได้รับแจ้งจากป.ป.ช. โดยชอบแล้วตามที่ท่านอดีตอสส. ชี้แจง ต้องถือว่าหัวหน้าคณะและอัยการรวม 7 ท่านที่ไม่ได้ไปประชุมมีความผิด ซึ่งท่านอสส.ในขณะนั้นได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนและลงโทษอัยการทั้ง 7 ท่านนี้อย่างไรหรือปล่อยเลยตามเลย 
(2) คณะทำงานอัยการ 3 ท่านที่ไปประชุมกับฝ่าย ป.ป.ช. ไม่แปลกใจบ้างเลยหรือว่าทำไมหัวหน้าคณะและพรรคพวกรวม 7 ท่านไม่ได้ไปประชุมด้วย ในคดีสำคัญที่มีอดีตนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถูกกล่าวหาถ้าเป็นตน อย่างน้อยต้องโทรตามหัวหน้าคณะหรือพรรคพวก ถ้าท่านเหล่านั้นไม่ทราบเรื่องก็ต้องขอเลื่อนการประชุมออกไป ตนว่าทุกคนในโลกคงทำแบบนี้เหมือนกัน

(3) ที่ประหลาดมากขึ้นก็คือทั้ง 3 ท่านที่ไปประชุมที่เคยเห็นร่วมกันแต่แรกว่าสำนวนมีความไม่สมบูรณ์กลับเห็นตามป.ป.ช. ว่าสำนวนสมบูรณ์ที่จะฟ้องได้แล้วโดยไม่ต้องไต่สวนพยานหลักฐานเพิ่มเติม แล้วเหตุใดเมื่อยื่นฟ้องไปแล้วจึงมาขอเพิ่มเติมพยานเอกสารที่อยู่นอกสำนวนอีก 67,800 แผ่น คดีสำคัญขนาดนี้ทำไมไม่ทำให้รอบคอบครบถ้วนแต่แรกครับ

(4) นอกจากความผิดปกติที่ตนกล่าวแล้ว คดีนี้ยังเป็นคดีแรกที่ อสส. เรียกสำนวนไปจากอัยการคดีพิเศษที่มีหน้าที่รับผิดชอบคดีของป.ป.ช.โดยตรง เพื่อมอบให้สำนักงานคดีสืบสวนและสอบสวนที่มีนายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล เป็นอธิบดีและเป็นหนึ่งในสามท่านที่ไปประชุมเป็นผู้รับผิดชอบแทน
ประการสุดท้าย คือ ความผิดปกติทั้งหมดช่างบังเอิญมาเกิดขึ้นภายหลังจากที่หัวหน้า คสช. มีคำสั่งปลดนายอรรถพล ใหญ่สว่าง ที่เป็นอัยการสูงสุดในขณะนั้นและแต่งตั้งให้ท่านอดีตอสส.ที่ถูกน.ส.ยิ่งลักษณ์ฟ้องมาเป็นแทน ซึ่งถ้าไม่มีการปลดนายอรรถพลแล้วท่านอดีตอสส. ที่ถูกฟ้องจะไม่มีโอกาสเป็นอสส.เลย นี่ใช่ไหมที่ท่านบอกว่าคือการแทนคุณแผ่นดิน

source:- http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1443764192

 
Top