การจลาจลที่ภูเก็ตนั้น สะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่นรัฐข้าราชการของโครงสร้างปัจจุบัน เพราะผู้มีอำนาจในระบบรัฐแบบนี้ไม่มีความผูกพันกับประชาชน
เมื่อรัฐข้าราชการพึ่งไม่ได้ ไม่อาจแก้ปัญหาโครงสร้างสังคมยุคใหม่ที่ซับซ้อนได้ "คนยุคใหม่" ด้วยการช่วยเหลือของระบบออนไลน์ เช่น FB, Twitter, Line ทำให้สามารถรวมกลุ่มกันได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และส่งต่อข่าวสารกลุ่มตนเอง เป็นอิสระจากสื่อยุคเก่า เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ การปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มตนจึงทำได้อย่างรวดเร็ว เราเห็นได้ชัดเจนเลยว่า การรวมกลุ่มกันที่ภูเก็ตนั้น ใช้เวลาอันสั้น สามารถรวมคนจากมุมใดของสังคมก็ได้ ในจำนวนที่สามารถปิดกั้นกำลังเจ้าหน้าที่รัฐได้
ระบบการรวมตัว การสื่อสารเช่นนี้ รัฐข้าราชการ ยากที่จะสามารถควบคุมได้ จริงๆแล้วก็ควบคุมไม่ได้เลย
รัฐข้าราชการ กุมอำนาจผ่านโครงสร้างทางสังคมที่ล้าหลังเต็มทน แต่ไม่สามารถชี้นำประชาชนยุคใหม่ทางอุดมการณ์ได้ โครงสร้างแบบนี้รอวันล่มสลาย เพราะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมในยุคนี้ได้
การสื่อสารประชาสัมพันธ์ทางสื่อกระแสหลักยุคนี้ หมดพลังลงไปมาก มีคนจำนวนน้อยที่เชื่อสื่อกระแสหลัก แต่พวกเขาเชื่อถือสื่อของกลุ่มเขาเอง เช่น LINE หรือ FB เป็นต้น การสื่อสารของรัฐผ่านสื่อดั้งเดิม จึงไร้ประสิทธิผลโดยสิ้นเชิง มีอิทธิพลน้อยมากต่อการชี้นำทางสังคม