ไม่แปลกเลยที่ผู้รักเสรีภาพประชาธิปไตยออกมาประชดประชันคัดค้านตำรวจ สคบ. ห้ามโพสต์ภาพกินเหล้ากินเบียร์ ไม่ต่างกับคัดค้านซิงเกิ้ลเกทเวย์ เพราะเราอยู่ในยุคสมัยของการต่อสู้ทางความคิด ระหว่างจารีตนิยม กับเสรีประชาธิปไตย ไม่ว่าเรื่องทางการเมือง สังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิต
เสรีประชาธิปไตยไม่เอารัฐคุณพ่อรู้ดี เห็นประชาชนเป็นเด็ก ตัดสินใจเองไม่ได้ เลือกผู้นำเองไม่ได้ แค่มีคนโพสต์ภาพเหล้าเบียร์ก็จะกินตามไป?
เสรีประชาธิปไตยไม่ได้มองโลก single ดีชั่วขาวดำ แต่มองอย่างแตกต่างหลากหลาย จึงมีพื้นที่ให้เสรีภาพส่วนตัว จะกินเหล้า สูบบุหรี่ จะเอากับใครท่าไหน ถ้ายินยอมพร้อมใจไม่หนักหัวกบาลใครมันคือพื้นที่ส่วนตัว เช่นเดียวกับความนิยมทางการเมือง ซึ่งบางทีมันก็เป็นเรื่องที่กูจะเลือกซะอย่าง ไม่ต้องมาขัดขวางกำจัดคนเลวสรรหาคนดีแทนชาวบ้าน แล้วก็เลือกปฏิบัติกันเสียเอง
000000
ตำรวจกับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคประชุมกัน ตีความว่าดาราเซเลบส์ 24 คนที่โพสต์ภาพดื่มเบียร์ มีความผิดฐานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านโซเชียลมีเดีย มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมสำทับว่าชาวบ้านทั่วไปใครโพสต์ภาพเหล้าเบียร์ให้เห็นยี่ห้อ ก็ผิดหมด
บ้ากันไปใหญ่ โซเชียลมีเดียทำให้ประชาชนทุกคนเป็นสื่อได้ แต่ก็ติดคุกได้ ในฐานะสื่อ?
เรื่องนี้ถ้าไล่เรียงให้ดี กระแสตำหนิวิจารณ์เกิดเพราะดาราคนดัง 24 รายที่มีผู้ติดตามเป็นหมื่นเป็นแสน โพสต์ภาพดื่มเบียร์ยี่ห้อเดียวกัน จนสังคมสงสัยว่า “โฆษณาแฝง” แต่พอเรื่องไปถึงตำรวจกับ สคบ.กลับตีความว่านายหมูนางแมวที่ไหนก็ตาม ตั้งวงก๊งเหล้าที่บ้านแล้วถ่ายภาพลงเฟซบุ๊ค ซึ่งอย่างเก่งก็มีเพื่อน 4-500 คน ถ้าบังเอิญเห็นยี่ห้อ หรือเขียนข้อความกำลังซดยี่ห้อนั่นนี่ ก็จะมีความผิดทั้งจำทั้งปรับ ทั้งที่นายหมูนางแมวไม่ได้มีเสน่ห์ชักนำให้ใครกินตาม แค่อยากโชว์ความสนุกสนานให้เพื่อนเห็น
ประเด็นอยู่ที่ไหน อยู่ที่สังคมเห็นว่าดาราคนดัง 24 คนทำไม่เหมาะสม แล้วหน่วยงานรัฐก็ก้นร้อน ต้องหากฎหมายเอาผิดให้ได้ ไม่งั้นชาวบ้านจะว่าไม่มีน้ำยา ว่าแล้วก็ตีความกฎหมายซะจนจำกัดเสรีภาพคนทั้งประเทศ
พูดอย่างนี้พวก “คนดี” คงโวยว่าเสรีภาพอะไร เสรีภาพในการทำเลวถ่ายภาพกินเหล้าลงเฟซบุ๊ค อ้าว ก็เราไม่ได้อยู่ในรัฐอิสลาม ไม่มีกฎหมายห้ามกินเหล้ากินเบียร์ มีกฎหมายบังคับไหมว่าให้โพสต์แต่คุณธรรมความดีงาม
รัฐจารีตนิยม “ซิงเกิ้ลเกตเวย์” กับรัฐเสรีประชาธิปไตยต่างกันตรงนี้ อะไรเป็นพื้นที่ส่วนตัว ทำแล้วคนอื่นไม่เดือดร้อน ทำไปเถอะ จะกินเหล้าเมาแค่ไหนถ้าไม่ขับจะเสพสังวาสกับใครอีท่าไหน ถ้ายินยอมพร้อมใจไม่บังคับขืนใจก็ไม่หนักหัวใคร
โซเชียลมีเดียเป็นสื่อ แต่ก็เป็นพื้นที่ส่วนตัว เปรียบเหมือนนั่งกินเหล้าหน้าบ้านเรา ตราบใดที่กินเหล้าไม่ผิดกฎหมาย การโพสต์ภาพก็ไม่ผิดกฎหมาย เหมือนแต่งตัววับแวมถ่ายภาพก็ได้ แต่ถ้าแก้ผ้าเมื่อไหร่ก็มีความผิดฐานอนาจารเหมือนแก้ผ้าโชว์หน้าบ้าน
ฉะนั้นถ้าย้อนถามว่า ดารานั่งบาร์เบียร์กลางแจ้ง คนผ่านไปมาเห็นกันทั่ว ผิดไหม พวกศีลธรรมจัดอาจตำหนิเป็นแบบอย่างไม่ดีแต่ไม่ผิดกฎหมาย ก็เหมือนกับดารากินเบียร์โพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ถ้าไม่ใช่จงใจเพราะได้ค่าตอบแทน ก็ไม่ผิดอะไร ไม่ใช่การโฆษณา
กรณีนี้ถ้ารัฐจะเอาผิดได้ ก็มีอย่างเดียวคือพิสูจน์ว่ามัน “จ้างโปรโมต” กันเป็นเครือข่ายนี่หว่า ซึ่งจะผิดทั้งบริษัทและตัวดารา แต่ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ก็ต้องยอมรับว่ารัฐใช้กฎหมายได้ในขอบเขตเท่าที่มีพยานหลักฐาน ที่เหลือเป็นมาตรการทางสังคมซึ่งทั้งบริษัทและดาราควรถูกประณาม ไม่ใช่ลุกลามมาใช้กฎหมายศีลธรรมห้ามชาวบ้านหมด
นี่เป็นตัวอย่างทัศนะรัฐจารีตที่สะท้อนทางสังคม ไม่ต่างจากทางการเมืองที่มุ่งใช้อำนาจเกินขอบเขต ใช้กฎหมายเป็น “ยาแรง” จัดการปัญหา ไม่เข้าใจว่าต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีเสรีภาพ มีอำนาจตัดสินใจเองในเรื่องความนิยมทางการเมืองซึ่งศาลตัดสินไม่ได้ พยายามสร้างกลไกมาตัดสินแทนประชาชน เช่น “เชื่อได้ว่า” ทุจริตเลือกตั้งก็แจกใบแดง ยุบพรรค ตัดสิทธิ ซึ่งใช้ไปใช้มาก็เลือกปฏิบัติและขาดความชอบธรรมอีกต่างหาก
ใบตองแห้ง
source : FB Atukkit Sawangsuk & http://www.kaohoon.com/online/content/view/20892
source : FB Atukkit Sawangsuk & http://www.kaohoon.com/online/content/view/20892