รัฐบาลยืนยันใช้คำสั่งทางปกครองในคดีจำนำข้าวเป็นไปตามกฎหมาย “ยิ่งลักษณ์” ชี้ฝ่ายกฎหมายของนายกรัฐมนตรีพลิกมุมกฎหมายและกลไกเรียกค่าเสียหาย เรียกร้องนายกรัฐมนตรีอย่าละเลย “ความยุติธรรม”
วันนี้ (12 ต.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กหลายข้อความ รวมทั้งจดหมายเปิดผนึกซึ่งเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ให้นโยบายต่อคณะกรรมการฯ ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดต่อกรณีการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าว โดยไม่ละเลยประเด็น “ความยุติธรรม”
มีรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เตรียมจะให้ผู้แทนยื่นจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุในจดหมายเปิดผนึกว่า ฝ่ายกฎหมายของนายกรัฐมนตรีได้ “พลิกมุมกฎหมายและกลไก” ในการเรียกค่าเสียหายใหม่ โดยหากพบว่ามีความผิด รัฐจะไม่ฟ้อง แต่ใช้วิธีให้นายกรัฐมนตรีออกคำสั่งทางปกครอง (โดยไม่ต้องเข้าคณะรัฐมนตรี) สั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องชำระหนี้เหมือนคำสั่งยึดทรัพย์ เพียงเพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมในการฟ้องเรียกค่าเสียหายที่จะต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งเท่ากับเป็นการใช้อำนาจหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นคำพิพากษาของศาล เป็นกลไกในการชี้ถูกผิดว่าจะให้ผู้ใดรับผิดชอบในค่าเสียหายต่อการดำเนินนโยบาย รับจำนำข้าว ทั้งที่การพิจารณาคดีของศาลในคดีอาญายังไม่เสร็จสิ้น
น.ส.ยิ่งลักษณ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ยุติการดำเนินการใดๆ ที่ใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีแทนการพิพากษาคดีของศาล และการสอบสวนหากพบความเสียหาย รัฐควรฟ้องศาลให้พิจารณาพิพากษา และการสอบสวนควรให้โอกาสผู้เกี่ยวข้องได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและแสดงพยานหลักฐานอย่างเพียงพอ
อย่างไรก็ดี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ยืนยันว่าการใช้คำสั่งทางปกครอง ในคดีนี้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และไม่อาจรอให้คดีอาญาสิ้นสุดก่อนได้ เพราะคดีจะหมดอายุความ และรัฐจะตกเป็นจำเลย
สำนักข่าวไทยรายงานว่า นายวิษณุได้กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ในการดำเนินคดีทั่วไปฝ่ายรัฐจะเป็นผู้ฟ้องร้อง แต่เนื่องจากมี พ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ.2539 ที่บัญญัติไว้ว่า หากเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกกล่าวหาว่ากระทำละเมิด และการกระทำนั้นเป็นการประมาทเลินเล่อ ไม่ร้ายแรง ให้ฟ้องร้องหน่วยงาน ไม่ฟ้องร้องตัวบุคคล แต่หากเป็นการกระทำละเมิด และจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ต้องฟ้องที่ตัวบุคคล ไม่ให้ฟ้องรัฐ ซึ่งการดำเนินการออกคำสั่งทางปกครองต้องทำภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งจะครบกำหนด เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 แต่หากไม่พอใจสามารถยื่นฟ้องศาลปกครองให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวได้
“วิธีที่รัฐบาลจะดำเนินการเป็นกระบวนการปกติ และกรณีนี้ผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำละเมิด และเป็นการกระทำที่จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ตามที่ คณะกรรม การป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งเรื่องมา จึงต้องนำไปสู่กระบวนการออกคำสั่งทางปกครอง ไม่ใช่หลีกเลี่ยงการดำเนินการทางศาล”
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่ารัฐบาลต้องรีบออกคำสั่งและไม่สามารถรอให้การดำเนินคดีอาญาเสร็จสิ้นก่อนได้ เพราะอายุความมีเพียง 2 ปี หากเลยกำหนดนี้ไปแล้วจะไม่สามารถออกคำสั่งได้อีก ซึ่งหากปล่อยให้อายุความขาด รัฐก็จะกลายเป็นจำเลย#Ricescheme