อะไรที่แตกต่างจาก 6 ตุลา
6 ตุลา "ขวาพิฆาตซ้าย" ชนชั้นนำชนะ เพราะอุดมการณ์สังคมนิยมมีปัญหาในตัวเอง (และต่อมาก็ล่มสลาย) ขณะเดียวกันชนชั้นนำก็ปรับตัว ล้มรัฐบาลหอย "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง 12 ปี" มาเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ
แต่วันนี้ พวกเขาไม่ได้ต่อสู้กับอุดมการณ์สังคมนิยม หากต่อสู้กับอุดมการณ์ประชาธิปไตย ขณะเดียวกัน พวกเขาก็ไม่สามารถปรับตัวได้ ได้แต่แข็งขืน
หลัง 2500 การพัฒนาทุนนิยมทำให้นายทุนเติบใหญ่พร้อมกับชนชั้นกลาง ซึ่งต่างก็ต้องการมีส่วนแบ่งในอำนาจ มีสิทธิเสียง แต่อำนาจเผด็จการทหารแข็งตัว ไม่ปรับตัว จึงถูกโค่นเมื่อ 14 ตุลา
หลัง 14 ตุลาเมื่อประชาชนตื่นตัวจนชนชั้นนำหวาดกลัว ก็ทำรัฐประหารนองเลือด 6 ตุลา แต่เมื่อรู้ว่าไปไม่รอด ก็คลอดสูตรประชาธิปไตยครึ่งใบ (ประชาธิปไตยใต้อำนาจนำ) เปิดพื้นที่ให้กลุ่มธุรกิจ ทุนท้องถิ่น ทั้งในรูปของพรรคการเมือง และ กรอ. รวมทั้งสถาบันของคนชั้นกลาง สื่อ นักวิชาการ ประชาสังคมต่างๆ ซึ่งหลังพฤษภา 35 ยิ่งมีพลังมากขึ้น (แต่ก็ยังอยู่ใต้การครอบงำทางวัฒนธรรมโดยอำนาจนำ)
แต่หลังรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น หลังยุคทักษิณ "ประชาธิปไตยกินได้" บวกกับพัฒนาการสังคมไทยทุกด้าน เทคโนโลยีสื่อสาร มือถือ ดาวเทียม ทำให้คนชนบทที่เป็นคนชั้นกลางเกิดใหม่ เห็นอำนาจตัวเอง ไม่เอา "2 นคราประชาธิปไตย" ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจที่ไม่มาจากเลือกตั้งอีกต่อไป สูตรเดิม ประชาธิปไตยครึ่งใบ ประชาธิปไตยใต้อำนาจนำ จึงใช้ไม่ได้แล้ว ไม่ว่าจะปราบปรามจะล้มล้างรัฐบาลเลือกตั้งอย่างไร ทั้งด้วยปืน ด้วยทหาร ด้วยศาล ด้วยม็อบคลุ้มคลั่ง ก็จะสยบความต้องการนี้ไม่ได้
ขณะที่พวกเขาเอง ก็ไม่ยอมปรับตัว ไม่ถอยแม้แต่น้อย

000000

39 ปี 6 ตุลา ใครฆ่านิสิตนักศึกษา วิญญาณผู้เสียชีวิตยังเรียกหา แต่ไม่เคยได้รับความยุติธรรม

เปล่าหรอก ไม่ได้มาทวงถาม แต่มาชวนมองย้อนต่างหาก ว่าเหตุใดความแตกแยกฆ่าฟันอย่างทารุณโหดร้ายจึงถูกลบลืม ทำไมสังคมไทยกลับมา "ปรองดอง" กันได้ร่วม 30 ปี

หลัง 14 ตุลา 2516 ความไม่เป็นธรรมที่เผด็จการทหาร ปิดกั้นไว้ 16 ปี ปะทุขึ้นเป็นการเคลื่อนไหวเรียกร้องราว ดอกเห็ด ทั้งกรรมกรเรียกร้องค่าแรง ชาวนาให้ลดค่าเช่า นักเรียนให้ "เลิกเกรียน" คนเหนือคนอีสานคนใต้ ซับแดง นาทราย พัทลุง สุราษฎร์ฯ ปัตตานี ต่อต้านรัฐราชการ

"ประชาธิปไตยเบ่งบาน" แต่แน่ละ เกิดความขัดแย้งไปทั่ว พลังอนุรักษนิยมจึงก่อตัว "ขวาพิฆาตซ้าย" ชนชั้นนำหวาดกลัวขบวนการนักศึกษาซึ่งโน้มเอียงไปทางสังคมนิยม จนทำรัฐประหารไล่นักศึกษาเข้าป่าจับปืน แล้วตั้ง "รัฐบาลหอย" เผด็จการเบ็ดเสร็จ "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง 12 ปี"

แต่รัฐบาลหอยอยู่ได้ปีเดียว ก็ถูกกองทัพยึดอำนาจคืน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ รีบนิรโทษกรรมให้ผู้นำนักศึกษาที่ถูกคุมขังจาก 6 ตุลา ร่างรัฐธรรมนูญ 2521 จัดเลือกตั้งในปี 2522 และเดินทางไปเยือนจีน รัสเซีย

ต่อมา พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็ออกนโยบาย 66/23 รับนักศึกษาออกป่า "คืนรัง" ยุติการต่อสู้กันด้วยกำลังอาวุธ เข้าสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบที่ชูคำขวัญ "โชติช่วงชัชวาล"

บทสรุปของความขัดแย้งครั้งนั้นคือ ประชาธิปไตยพ่ายแพ้ แต่ชนชั้นนำก็ตระหนักว่าใช้วิธีการที่ผิด รีบปรับตัวปรับทิศ ขณะเดียวกันก็ปรับโครงสร้างความสัมพันธ์อำนาจใหม่ จากเผด็จการเต็มใบยุคสฤษดิ์ ถนอม แม้ไม่ยอมเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ แต่ก็แบ่งให้ "ครึ่งใบ" รองรับพลังกลุ่มทุนธุรกิจและคนชั้นกลางที่เติบโตจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจหลังกึ่งพุทธกาล

พูดง่ายๆ ยุคป๋าต่างจากยุคสฤษดิ์ ถนอม ที่แม้กองทัพและเทคโนแครตยังกุมทิศทางนโยบาย แต่ก็เปิดให้นักการเมืองทุนท้องถิ่นร่วมใช้อำนาจ ตั้งกรรมการร่วมรัฐเอกชนรับฟังภาคธุรกิจ พร้อมกับผ่อนคลายให้สถาบันของคนชั้นกลาง สื่อ นักวิชาการ ภาคประชาสังคมต่างๆ ไปจนสหภาพรัฐวิสาหกิจ มีบทบาทมีอำนาจต่อรอง (กระทั่งเข้มแข็งขึ้นหลังพฤษภา 35)

ตัดฉับจากอดีตมาปัจจุบัน จาก "ขวาพิฆาตซ้าย" ถึง "เหลืองแดงแบ่งขั้ว" มีลักษณะทั้งคล้ายกันและต่างกัน ที่ต่างคือความขัดแย้งครั้งนี้ซับซ้อนกว่า ยุ่งเหยิงกว่า และใหญ่โต กว่า ม้วนแทบทุกองค์กรสถาบัน ดึงคนไทยนับสิบๆ ล้านมาประจันหน้า

ที่เหมือนคือสังคมไทยถึงเวลาต้องปรับโครงสร้างความสัมพันธ์อำนาจใหม่ แต่ก็ยังหาจุดลงตัวไม่ได้ จึงต้องค้างต่องแต่งอยู่ใน "ระบอบ คสช."

อะไรคือโครงสร้างความสัมพันธ์อำนาจใหม่ แบ่งอำนาจให้ทักษิณหรือ ไม่ใช่เลย พูดง่ายๆ คือทฤษฎี 2 นคราประชาธิปไตย "คนชนบทเลือกรัฐบาล คนกรุงล้มรัฐบาล" ของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ถูกเผาไปแล้ว คนชั้นกลางเกิดใหม่ในชนบท ซึ่งตื่นตัวจากการกระจายอำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2540 และ "ประชาธิปไตยกินได้" ในยุคทักษิณ ประกาศตนเป็นไท "หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง" ไม่ยอมรับอำนาจที่ตัวเองไม่ได้เลือกตั้ง ไม่ยอมรับอำนาจเหนือกว่าของคนมั่งมีคนชั้นกลางระดับบนอีกต่อไป

เราถึงได้สู้กันมา 9 ปี ตั้งรัฐบาล ล้มรัฐบาล ประท้วง ปะทะ นี่เป็นเรื่องความต้องการอำนาจ ซึ่งไม่สามารถใช้ "ประชารัฐ" ลดเหลื่อมล้ำแล้วจะทำให้สยบยอมได้

น่าคิดว่าเราอยู่ในขั้นตอนไหนเมื่อย้อนไปเทียบ 6 ตุลา เพราะเกิดรัฐประหารมาตั้งแต่ 2549 อยู่ในช่วงรัฐบาลหอย? รัฐบาลเกรียงศักดิ์? รัฐบาลป๋า? หรือมองโลกในแง่ร้าย อยู่ในช่วงที่ยังไม่ถึง 6 ตุลาด้วยซ้ำไป

เราอยู่ในช่วงที่มีใครแพ้ใครชนะหรือยัง ก็ยังพูดได้ไม่เต็มปาก ยังเป็นแค่เหนือกว่าและเพลี่ยงพล้ำ

มันไม่ง่ายเหมือนอดีตหรอกนะครับที่จะมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดชนะเบ็ดเสร็จแล้วจึงค่อยปรับโครงสร้างอำนาจใหม่ แล้วจึงค่อยให้อภัย "นิรโทษกรรม" เพราะความขัดแย้งรอบนี้ใหญ่โตเกินกว่าที่ใครจะชนะเบ็ดเสร็จ

ชัยชนะของชนชั้นนำในอดีตก็ไม่ใช่ได้มาด้วยกำลังตนเองล้วนๆ เพราะปัจจัยอีกด้านคืออุดมการณ์สังคมนิยมล่มสลาย การต่อสู้ด้วยอาวุธของ พคท.(ซึ่งก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย) จึงพังทลาย ขณะที่ปัจจุบันเป็นการต่อสู้กับอุดมการณ์ประชาธิปไตย แม้จะมีคนชั้นกลางเก่าพลิกไป "ไม่เอาประชาธิปไตยฝรั่ง"

รัฐไทยในอดีต "ก้าวข้าม" 6 ตุลาด้วยการลบภาพลบลืมลบทิ้ง "ปรองดอง" โดยฝ่ายชนะยอมให้ฝ่ายแพ้มีที่ยืน แต่ไม่คืนความยุติธรรม

ความขัดแย้งครั้งนี้ใหญ่โตเกินกว่าจะก้าวข้ามเช่นครั้งนั้น เกินกว่าจะเอาชนะเบ็ดเสร็จด้วยกำลัง และกลบเกลื่อนด้วยความไม่ยุติธรรม

source :- FB Atukkit Sawangsuk & http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1443805838
 
Top