กองทัพอากาศรัสเซียจะทำอะไรได้บ้างในซีเรีย?
โจนาธาน มาร์คัส ผู้สื่อข่าวสายกลาโหมของบีบีซีรายงานว่า ปฏิบัติการในซีเรียของรัสเซียครั้งนี้ เป็นปฏิบัติการนอกดินแดนที่เคยเป็นอดีตสหภาพโซเวียตเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น
ในขณะที่สหรัฐฯ และพันธมิตร ได้โจมตีทางอากาศกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในซีเรียและอิรักไปแล้วกว่า 7,000 ครั้ง ซึ่งหากจะให้ประเมินผลการโจมตีนี้ในทางที่ดีที่สุดแล้ว ก็คงเรียกได้ว่าให้ผลจำกัดจำเขี่ยมาก กลุ่มไอเอสถูกตรึงกำลังไว้ได้ แต่ยังไม่ได้ยกธงขาวยอมแพ้ ดังนั้น มีเหตุผลอะไรที่รัสเซียจะทำได้ดีกว่ากองกำลังร่วมของสหรัฐฯ และพันธมิตร ?
การประเมินผลการสู้รบเบื้องต้นชี้ว่า รัสเซียพุ่งเป้าโจมตีเพื่อช่วยผ่อนแรงให้กับทหารของปธน. อัล อัสซาด และเป็นที่ชัดเจนว่า เป้าหมายการโจมตีของรัสเซียจะเกินเลยไปกว่าการโจมตีกลุ่มกบฏที่มีความสัมพันธ์กับไอเอสเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวสายกลาโหมของบีบีซีบอกว่า กำลังพลและยุทโธปกรณ์ที่รัสเซียส่งไปยังซีเรีย เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของกองทัพรัสเซียเท่านั้น โดยเครื่องบินรบที่ส่งไปจัดว่าเป็นเครื่องบินรบรุ่นเก่าที่โด่งดังมาตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต แต่ก็มียุทโธปกรณ์รุ่นใหม่ที่ทันสมัยที่สุดอยู่ด้วย มีทั้งเครื่องบินทิ้งระเบิด ทั้งเครื่องบินขับไล่โจมตีและให้การสนับสนุนภาคพื้นดิน ไมเคิล คอฟแมน นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงชี้ว่า ที่น่าสนใจที่สุดคือเครื่องบินรุ่น ซู-30เอสเอ็มที่สามารถปฏิบัติภารกิจได้หลากหลาย ไม่ว่าจะในการรบทางอากาศหรือการโจมตีเป้าหมายภาคพื้นดินได้แม่นยำจากระดับเพดานบินสูง นอกจากนี้ยังมี ซู-34เอส ที่เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกล เครื่องบินทั้งสองรุ่นนี้ยังไม่เคยถูกนำไปใช้ในสงคราม ดังนั้นรัสเซียจึงถือโอกาสนำเครื่องบินทั้งสองรุ่นนี้ไปทดสอบด้วย
อย่างไรก็ตามดักลาส เบอร์รี นักวิเคราะห์ที่สถาบันระหว่างประเทศเพื่อยุทธศาสตร์ศึกษาในกรุงลอนดอนชี้ว่า กองทัพรัสเซียในวันนี้ ยังคงขาดความหลากหลายด้านอาวุธและระบบเข้าโจมตีที่มีความแม่นยำ ที่ชาติตะวันตกส่วนใหญ่มีอยู่ และเรื่องนี้เป็นปัญหาของกองทัพอากาศรัสเซียมาตั้งแต่สมัยสงครามในจอร์เจียเมื่อปี 2551 แล้ว ทั้งนี้เป็นผลมาจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและขาดการลงทุนพัฒนา และแม้ว่ามีการนำอากาศยาน (โดรน) ออกปฏิบัติการในซีเรียด้วย แต่โดรนของรัสเซียยังมีขีดความสามารถในการสอดแนมและโจมตีไม่สูงมากเท่ากับโดรนของชาติตะวันตกและพันธมิตร
แม้ว่าในภาพรวม กองทัพอากาศรัสเซียยังล้าหลังชาติตะวันตกบางชาติ แต่นับว่าเป็นกำลังรบที่มีศักยภาพในปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ และเป็นจุดแตกต่างสำคัญในปฏิบัติการทางอากาศระหว่างรัสเซียกับพันธมิตรที่มีสหรัฐฯ เป็นแกนนำ ข้อเสียเปรียบของทีมฝ่ายหลังคือ ไม่มีทหารราบที่ช่ำชอง การโจมตีทางอากาศจะให้ผลลัพธ์สูงมากหากเป็นการประสานงานร่วมกับทหารภาคพื้นดิน ดังนั้นการโจมตีทางอากาศเพียงอย่างเดียวจึงให้ผลที่ค่อนข้างจำกัด ขณะที่ฝ่ายรัสเซียนั้น แม้ว่าทหารราบของปธน. อัล-อัสซาดเสียกำลังพลไปมาก ทั้งยังมีการแปรพักตร์ด้วย แต่อย่างน้อยก็เป็นกำลังพลที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ และเมื่อบวกกับอาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังพลของกองทัพอากาศรัสเซียแล้ว ก็น่าจะช่วยเสริมและต้านทานกำลังรุกจากฝ่ายต่อต้านได้
แม้ว่าประสิทธิภาพในด้านการสอดแนมของรัสเซียยังสู้กับสหรัฐฯ ไม่ได้ แต่เชื่อว่ารัสเซียจะได้ข้อมูลด้านข่าวกรองมาจากกำลังภาคพื้นดินของกองทัพซีเรีย และนี่คือหัวใจของยุทธศาสตร์ของรัสเซีย โดยรัสเซียต้องการเสริมความแข็งแกร่งให้กับปธน. อัล-อัสซาด เพื่อผ่อนแรงกดดัน และให้หลักประกันว่า รัสเซียและพันธมิตรของซีเรียจะมีบทบาทในอนาคตของซีเรียต่อไป
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวชี้ว่ารัสเซียไม่ได้ส่งกำลังพลและยุทโธปกรณ์ไปซีเรียเพื่อปราบฝ่ายต่อต้าน หรือเพื่อช่วยให้กองทัพของปธน. อัล-อัสซาด ยึดพื้นที่ที่เสียไปกลับคืนมา แต่เพื่อซื้อเวลาให้กับปธน. อัล-อัสซาด ในช่วงที่กำลังมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้านการทูตและสถานการณ์ในภูมิภาค ดังนั้นแสนยานุภาพของกองทัพอากาศรัสเซียอาจจะเป็นปัจจัยที่ชี้เป็นชี้ตายได้
ภาพประกอบ (แฟ้มภาพ) ภาพ 1-2 เครื่องบินรบรัสเซีย, ภาพ 3 นักเคลื่อนไหวระบุว่าเป็นผลจากการโจมตีทางอากาศของรัสเซียในเมืองลาตามเนห์เมื่อวันพุธ (30 ก.ย.), ภาพ 4 ทหารซีเรีย


 
Top