0


เข้มงวดไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐมีเอี่ยวค้ามนุษย์ เตรียมออกระเบียบกำหนดลักษณะพฤติกรรมที่ห้ามกระทำ มีรวมไปถึงห้ามประกันตัวผู้ถูกกล่าวหา คบค้า “เป็นอาจิณ” กับผู้มีพฤติกรรมค้ามนุษย์ มีตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน รวมทั้งตั้งคณะกรรมการขึ้นรับเรื่องและตรวจสอบเจ้าหน้าที่ที่เชื่อว่ามีส่วน

นางเสาวนีย์ โขมพัตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กล่าวในการประชุมเรื่องทิศทางการดำเนินคดีค้ามนุษย์ที่จัดโดยสำนักงานอัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยเปิดเผยถึงมาตรการในเรื่องของการป้องกันว่า เมื่อวันที่ 13 ต.ค. คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบกับร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันเจ้าหน้าที่รัฐมิให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นระเบียบที่นายกรัฐมนตรีได้ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้ยกร่างขึ้นมาและนำเสนอต่อครม. ตั้งแต่เมื่อเดือนก.ย. โดยในการให้ความเห็นชอบหนนี้ ครม.ต้องการให้ปรับแก้ชื่อและรายละเอียดบางอย่างซึ่งขณะนี้สำนักงานกฤษฏีกากำลังดำเนินการอยู่ก่อนที่จะนำมาประกาศใช้

นางเสาวนีย์กล่าวว่า ตามเนื้อหาในระเบียบนั้น กำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ไว้คือ หนึ่งต้องมีการรณรงค์จากหน่วยงานต่างๆเผยแพร่ข้อมูลให้มีความเข้าใจถึงลักษณะของการกระทำความผิด มาตรการทางด้านวินัย วิธีการแจ้งข่าว การรับเรื่องร้องเรียน ประการที่สอง การระดมกำลังจากผู้บังคับบัญชาทุกระดับให้ช่วยกันสอดส่องดูแลและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น ประการที่สามคือการจัดระบบการรับแจ้งข่าวและเรื่องร้องเรียน ให้มีศูนย์รับแจ้งข่าว ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯเป็นหน่วยงานกลาง

ส่วนในหมวดที่สองของระเบียบ กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวพันกับการค้ามนุษย์ที่มีรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการฯจะทำหน้าที่กำหนดแนวทางปฎิบัติ วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาที่เกิดจากการปฎิบัติ ตรวจสอบกลั่นกรอง แสวงหาข้อเท็จจริงเบื้องต้น พิจารณาข้อร้องเรียนและข้อมูลที่ได้ ตลอดจนวินิจฉัยเบื้องต้นพฤติการณ์เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ มีอำนาจในการติดตามต่างๆ เรียกผู้แทนรัฐและเอกชนไปชี้แจงได้ กวดขันติดตาม กำหนดหลักเกณฑ์ในการทำรายงานการดำเนินการทางวินัย

นางเสาวนีย์กล่าวว่า ระเบียบกำหนดห้ามการดำเนินการใดๆที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ จัดหาทรัพย์สิน สถานที่ รับเงินหรือผลประโยชน์อื่นใด หรือคบค้าสมาคม “เป็นอาจิณ” กับผู้ที่กระทำการ แม้แต่การใช้หลักทรัพย์ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐค้ำประกันผู้ต้องหาไม่อาจทำได้

นางเสาวนีย์กล่าวด้วยว่า มาตรการอีกอย่างหนึ่งคือได้มีการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขข้อขัดข้องด้านกระบวนการยุติธรรมในคดีค้ามนุษย์ โดยคำสั่งของนายกรัฐมตรีเมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมาได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้เรียบร้อยแล้ว มีนายอธิคม อินทุภูติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นประธาน และมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆร่วมเป็นกรรมการ รวมทั้งปลัดกระทรวงมหาดไทย ยุติธรรมและกระทรวงแรงงานอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ อธิบดีกรมประมง เลขาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้คือจัดทำข้อเสนอเพื่อพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ต่อนายกรัฐมนตรี จัดทำข้อเสนอแนะในการปรับปรุงโครงสร้างและการดำเนินงานของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายในคดีเกี่ยวกับการค้ามนุษย์มีประสิทธิภาพมากขึ้น และอาจจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องอื่นๆด้วยก็ได้

ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯกล่าวว่า ในส่วนของการทำฐานข้อมูลเพื่อประกอบการทำรายงานสำหรับการรับมือปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทยนั้น กระทรวงแรงงานเป็นผู้รับไปดำเนินการ ส่วนกระทรวงการพัฒนาสังคมฯจะเร่งรัดในเรื่องการออกมาตรการที่จะอนุญาตให้ผู้เสียหายหรือเหยื่อสามารถออกไปทำงานเป็นการชั่วคราวได้ ซึ่งเรื่องนี้ทางกระทรวงแรงงานก็ได้อนุญาตแล้ว นอกจากนั้นยังเสนอว่า ในการเก็บข้อมูลจากผู้เสียหายในอนาคตนั้น ตนอยากเห็นการดำเนินการซักถามผู้เสียหายที่เป็นผู้หญิงและเด็กแบบ one stop คือบูรณาการระหว่างหน่วยงานและทำหนเดียวเพราะคนเหล่านี้บอบช้ำมามาก

“การดำเนินการต่างๆเพื่อช่วยเหลือเหยื่อนั้นเพื่อเป็นการดูแลตามหลักมนุษยธรรมเพราะพวกเขาประสบความเสียหายอย่างมากทั้งร่างกายและจิตใจ ในขณะเดียวกันก็เพื่อจะให้พวกเขาสามารถเป็นพยานที่มีคุณภาพมีคุณค่าในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในคดีค้ามนุษย์ได้”

ในภาพ โรฮิงญาเป็นกลุ่มที่มักตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ที่ผ่านมาทางการได้จับกุมผู้เกี่ยวข้องเตรียมดำเนินคดีครั้งใหญ่ซึ่งในจำนวนผู้ถูกจับดำเนินคดีนี้รวมไปถึงเจ้าหน้าที่บางคนด้วย

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top