เผยทารกได้รับ "แบคทีเรียดี" แต่เนิ่นๆ ช่วยป้องกันการเกิดหอบหืดได้
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียของแคนาดา เผยแพร่รายงานการวิจัยในวารสาร Science Translational Medicine โดยระบุว่า ทารกที่ขาดแบคทีเรียซึ่งจำเป็นต่อร่างกายมนุษย์ 4 ชนิด มีโอกาสเสี่ยงจะเป็นโรคหอบหืดสูงกว่าเด็กคนอื่นเมื่อโตขึ้น
จากการศึกษาเพื่อบันทึกชนิดของจุลินทรีย์ต่างๆที่พบในร่างกายของทารกวัย 3 เดือน 319 คน เปรียบเทียบกับที่พบในทารกกลุ่มเดียวกันเมื่อมีอายุได้ 1 ขวบแล้ว พบว่าข้อมูลที่ได้มีความเชื่อมโยงกับโอกาสที่เด็กจะเกิดโรคหอบหืดในเวลาต่อมาอย่างมาก
นักวิจัยพบว่า หากทารกอายุ 3 เดือนขาดแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย 4 ชนิด คือ Faecalibacterium, Lachnospira, Veillonella และ Rothia (Flvr) จะมีความเสี่ยงเป็นโรคหอบหืดสูงขึ้นเมื่อมีอายุได้ 3 ขวบ ในขณะที่เด็กวัย 1 ขวบซึ่งขาดแบคทีเรีย 4 ชนิดดังกล่าว กลับไม่ส่งผลต่อการเป็นโรคหอบหืดเมื่อเติบโตขึ้นแต่อย่างใด
ดร. สจวร์ต เทอร์วี่ หนึ่งในคณะนักวิจัยระบุว่า ผลการศึกษาดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการได้รับ "เชื้อที่ถูกต้องในเวลาที่เหมาะสม" ทำให้ทารกมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคหอบหืด ซึ่งเกิดจากการที่ทางเดินหายใจมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งระคายเคืองและการอักเสบง่าย
ทั้งนี้ การที่ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคหอบหืดได้มากขึ้น อาจเกิดจากการที่ทารกอยู่ในภาวะที่มีสุขอนามัยมากเกินไป และไม่ได้รับเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆมากพอที่ภูมิคุ้มกันจะสามารถพัฒนาเพื่อแยกแยะเชื้อดีออกจากเชื้อร้ายได้ นอกจากนี้ การผ่าตัดทำคลอด การไม่ได้ดื่มน้ำนมมารดา และการที่แม่ใช้ยาปฏิชีวนะ ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เชื้อจุลินทรีย์ที่ีดี ไม่ถูกส่งผ่านจากแม่ไปสู่ลูกตามปกติ

 
Top