รัฐประหาร 49,57 ทำให้ความยุติธรรมสับสน ด้วยการ "แสร้งว่า" รัฏฐาธิปัตย์ไม่เกี่ยวกับอำนาจศาลและองค์กรอิสระ เป็น "รัฐประหารอารยะ" เช่น ทักษิณวิจารณ์กองทัพทำรัฐประหาร กองทัพก็ไปฟ้องศาลอาญา อาศัยกระบวนการยุติธรรมเป็นที่พึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องตลก น่าจะเป็นครั้งแรกของโลก ที่คนวิจารณ์รัฐประหารถูกฟ้องฐานหมิ่นประมาท ในอดีตเค้ามีแต่จับไปยิงเป้า จับขังยาว หรือปัจจุบันก็ลดมาปรับทัศนคติในห้องสี่เหลี่ยม
ทำไมมันย้อนแย้งอย่างนี้ แล้วมันยุติธรรมจริงหรือ คดีความต่างๆ ต่อให้ศาลไม่ 2 มาตรฐาน ศาลก็เป็นแค่ปลายน้ำ คดีเริ่มตั้งแต่ตำรวจ ปปช. อัยการ ซึ่งถามว่าใครตั้งใครย้าย ทำหน้าซื่อตาใสยังกะอยู่ในกระบวนการที่ชอบธรรม เดี๋ยว สนช.ก็ตั้ง ปปช. 5 คน ที่สรรหากันเอง ลงมติกันเอง การพิจารณาคดีนักการเมืองในสภาพที่สังคมถูกปิดปาก หวาดกลัว ถามว่าจะต่อสู้เรื่องพยานหลักฐานกันได้เต็มที่ไหม ศาลตัดสินแล้ววิพากษ์วิจารณ์ได้ไหม
ยกตัวอย่างย้อนแย้งสุดๆ ต่อให้ศาลตัดสินอย่างเที่ยงธรรมว่าทักษิณหมิ่นประมาท แต่กลับกัน ใครฟ้องกองทัพ ฟ้อง คสช.กลับฟ้องไม่ได้เพราะมีนิรโทษกรรม มันก็ยุติธรรมด้านเดียวอยู่ดี
แล้วตอนนี้ คสช.ก็กำลังเหิมราวกับว่าตัวเองเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรม ใช้อำนาจทางปกครอง สั่งเรียกค่าเสียหายจำนำข้าวจากยิ่งลักษณ์ โดยโยนกันไปว่า อ้าว ก็ ปปช.ชี้ผิด ปปช.เป็นอิสระ คสช.สั่งไม่ได้นะ จะบอกให้
ความยุติธรรมมันวิปริตไปหมด

000000

ศาลอาญาออกหมายจับทักษิณหลบหนีไม่มาศาล ในคดีที่ตกเป็นจำเลยฐานหมิ่นประมาทกองทัพ ฟังเหมือนคดีธรรมดาแต่คิดดีๆ นี่เป็นคดีแรกในประวัติศาสตร์ไทย คดีแรกในประวัติศาสตร์โลก ที่มีคนวิจารณ์กองทัพทำรัฐประหารแล้วถูกฟ้องศาลฐานหมิ่นประมาท
ที่ไม่เคยมี เพราะถ้าเป็นคนอยู่ในประเทศก็ไม่ต้องฟ้อง ก็ถูกจับกุมคุมขังหรือปรับทัศนคติ แล้วแต่รัฐประหารชุดไหนใช้มาตรการแข็งอ่อนอย่างไร บางประเทศยิงเป้าไปเลยก็มี สมัยจอมพลถนอมทำรัฐประหารตัวเองเมื่อปี 2514 คุณอุทัย พิมพ์ใจชน กับเพื่อน 3 คน ฟ้องศาลถูกจับขังยาวจน 14 ตุลาจึงได้ออกมา เพราะศาลฎีกาในอดีตวินิจฉัยว่ารัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ไม่สามารถฟ้องร้องเอาผิดได้
ประเทศไทยยุคนี้กลับตาลปัตร กองทัพพึ่งกระบวนการยุติธรรม ได้รับความเสียหายจากคำพูดทักษิณจึงฟ้องศาลอาญา ไม่ใช่ศาลทหารด้วยนะ แปลว่า คสช.พ้นไป อีก 5 ปี 10 ปี ทักษิณก็ยังไม่พ้นคดี แต่ถ้ามีคนฟ้อง คสช.ต่อให้ไม่ติดคุกแบบยุคถนอม พอประกาศใช้รัฐธรรมนูญก็นิรโทษกรรมอยู่ดี
นี่คือภาพสะท้อนย้อนแย้งของรัฐประหารภิวัตน์ 2 ครั้งหลังทั้ง 2549,2557 รัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ อยู่ในตัว ออกประกาศคำสั่งเป็นกฎหมาย ใช้ ม.44 จับกุมคุมขังหรือกระทั่งประหารชีวิตได้ แต่กลับพยายามแยกตัวออกจากศาลและองค์กรอิสระ บอกโลกว่าศาลและกระบวนการยุติธรรมยังเป็นอิสระ ไม่เกี่ยวกัน คมช. คสช.สั่งไม่ได้ แล้วก็ใช้กระบวนการยุติธรรมจัดการนักการเมือง
ใช่ครับ ผมเชื่อว่า คมช. คสช. สั่งศาลไม่ได้ (แม้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์สั่งปลดประธานศาลฎีกาได้แต่คงไม่มีใครกล้าทำ) กระนั้นสิ่งที่พึงตระหนักคือ ต่อให้ศาลวินิจฉัยอย่างเที่ยงธรรม ไม่ลำเอียง ไม่อคติ ไม่เลือกข้าง 2 มาตรฐาน ศาลก็เป็นแค่ “ปลายน้ำ” ของกระบวนการยุติธรรม ขณะที่ตำรวจอยู่ใต้อำนาจรัฐบาล ป.ป.ช.มาจากการแต่งตั้งของรัฐประหารครั้งที่แล้ว (ซึ่งตอนนั้นตั้ง คตส.อีกต่างหาก และตอนนี้ สนช.ก็กำลังจะตั้งอีก 5 คน) แล้วถ้าจำกันได้ คสช.ก็ใช้อำนาจย้ายอัยการสูงสุด
นอกจากนี้สถานการณ์ที่ไม่ปกติ เสรีภาพที่จำกัด ก็มีผลกระทบการรวบรวมพยานหลักฐานสู้คดีของจำเลยที่เป็นนักการเมือง ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
ความพยายามแยกอำนาจศาล องค์กรอิสระ ออกจากรัฐประหาร เพื่อบอกโลกว่าเป็น “รัฐประหารอารยะ” ใช้กระบวนการยุติธรรม ส่งผลด้านกลับคือทำให้ความยุติธรรมสับสน ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าศาลตัดสินอย่างเที่ยงธรรมว่าทักษิณหมิ่นกองทัพ แต่กลับกัน นักการเมืองหรือประชาชนฟ้อง คสช.ไม่ได้เพราะนิรโทษกรรม ต่อให้ศาลยุติธรรมเพียงไร ก็เป็นความยุติธรรมด้านเดียวอยู่ดี
การดำเนินคดียิ่งลักษณ์ก็เช่นกัน อย่าปฏิเสธเลยว่ากระทบความเชื่อมั่นต่อความยุติธรรม แม้ศาลไม่รับฟ้องอดีตอัยการสูงสุด จากการสั่งฟ้องคดีจำนำข้าวก่อนประชุม สนช.ถอดถอนเพียง 1 ชั่วโมง เพราะในทางกฎหมายพิสูจน์ไม่ได้จงใจ แต่ในความเห็นชาวบ้าน... ไม่ต้องบอกก็ได้
การใช้ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิด เรียกค่าเสียหายจากนโยบายจำนำข้าว ยิ่งเป็นเรื่องใหญ่เพราะรัฐบาลต้องใช้อำนาจโดยตรง แม้อ้างว่ามาจากคำวินิจฉัย ป.ป.ช.เพราะตาม พ.ร.บ.นี้รัฐบาลเป็นผู้กำหนดความเสียหาย ออกคำสั่งให้จ่ายค่าเสียหาย แล้วยิ่งลักษณ์ค่อยไปร้องค้านต่อศาลปกครอง
รัฐประหาร 2534 ยึดทรัพย์นักการเมือง แต่ศาลตัดสินเป็นโมฆะ รัฐประหาร 2549 หันไปใช้ “ตุลาการภิวัตน์” แต่ผลที่ตามมาคือกระบวนการยุติธรรมปั่นป่วนสับสนไปหมด ทำไมไม่สรุปบทเรียน

                                                                                                                                ใบตองแห้ง

source :- FB Atukkit Sawangsuk & http://www.kaohoon.com/online/content/view/21113

 
Top