0

กระแสรัฐธรรมนูญกลับมาอีกครั้ง หลังได้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ ล่าสุดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานเสวนาหัวข้อ "รัฐธรรมนูญของปวงชนจากหลากหลายมิติ" โดยเชิญนักวิชาการจากหลากหลายสาขามาสะท้อนมุมเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ
ต่อเนื่องกัน วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม 2558 เวลา 6 โมงเย็น เว็บไซต์ prachamati.org เองก็กำลังจัดกิจกรรม “รัฐธรรมนูญแบบไหน ไม่เอาแล้ว ?” โดยเชิญชวนประชาชนทั่วไปใช้พื้นที่ในโซเชียลมีเดียของตนเองเพื่อส่งเสียงว่ารัฐธรรมนูญแบบไหนไม่เอาแล้ว พร้อมกับติดแฮชแท็ก ‪#‎ไม่เอาแล้ว
ก่อนจะถึงวันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม เว็บไซต์ประชามติขออุ่นเครื่องด้วย 3 ความเห็นจากนักวิชาการ 3 ด้าน ที่เราไปเก็บความคิดเห็นมาจากงานเสวนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

เริ่มกันที่ ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และหนึ่งในสมาชิกนิติราษฎร์ กล่าวถึงกรณีที่กำลังจะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่า เนื้อหาในการที่จะร่างรัฐธรรมนูญนั้น ไม่สำคัญเท่ากับกระบวนการ เพราะหากเราได้กระบวนที่ดี พื้นที่ในการถกเถียงก็จะตามมา และรัฐธรรมนูญใดที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมเลย เป็นรัฐธรรมนูญที่ตนไม่ยอมรับทั้งสิ้น เพราะขั้นต่ำที่สุดแล้ว ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการเลือกคนเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญ
"อะไรก็ตามที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ผมไม่เอาทั้งนั้น ซึ่งถ้าเราได้กระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วม เนื้อหาก็จะพัฒนา เสรีภาพก็จะตามมาเอง" สมาชิกนิติราษฎร์กล่าว
นอกจากนี้ ปูนเทพยังกล่าวว่า สุดท้ายประชาชนต้องได้ลงประชามติ และต้องเป็นประชามติที่เป็นเสียงสุดท้ายของประชาชน โดยไม่ได้มีองค์อื่นใดมาแทรกแซงได้อีก ทั้งนี้ หากเราพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญล่าสุดที่เพิ่งตกไป จะพบว่าประชามติมันไม่ได้ที่สุดที่ประชาชน ซึ่งตรงนี้ก็ถือเป็นปัญหาในเชิงหลักการ และเป็นปัญหาอยู่ในตัวอยู่แล้ว


ด้าน เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงรัฐธรรมนูญในมิติสิทธิมนุษยชนว่า “ตลอดระยะเวลาของประชาธิปไตยไทยติดกับดักเรื่องความมั่นคงและความเป็นชาติ ซึ่ง 20 ปีหลัง แม้จะมีพัฒนาการเรื่องประชาธิปไตยสิทธิเสรีภาพในสังคมไทย แต่ก็ยังติดแนวคิดความเป็นชาติและความมั่นคงของชาติ การจัดระเบียบ ความสงบเรียบร้อย ดังนั้นแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนจึงต้องอยู่ภายใต้ความมั่งคงของชาติ ซึ่งเป็นแนวคิดหลักในสังคมโดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจของรัฐ”
ทั้งนี้ “ถ้าเรามองกลับกันเอาหลักสิทธิมนุษยชนขึ้นมาก่อน รัฐธรรมนูญควรจะเป็นอย่างไร รัฐธรรมนูญต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชนเสรีภาพ ไม่ปล่อยให้อำนาจรัฐอยู่ในมือของคนไม่กี่คน ที่ถูกมองว่ามีคุณธรรมสูงกว่าเป็นผู้ที่จะสามารถตัดสินความเป็นไปของประเทศได้ และต้องจำกัดอำนาจรัฐบางอย่างเพื่อส่งเสริมเสรีภาพของปัจเจกบุคคล”
ในแง่กระบวนการ “รัฐธรรมนูญไม่ใช่กฎหมายประจำรัฐบาลที่เปลี่ยนรัฐบาล ยึดอำนาจแล้วจะร่างใหม่แต่รัฐธรรมนูญคือกฎกติการ่วมกัน เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญจะต้องมาจากประชาชน ถ้ารัฐธรรมนูญที่ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของต้องมาจากกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วม ก็จะทำให้มีความหวังได้ว่าหลักการสิทธิเสรีภาพต่างๆ จะถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญที่ไม่ฟังเสียงประชาชนไม่มีความหมาย รัฐธรรมนูญที่ร่างในภาวะที่ประชาชนไม่มีสิทธิเสียงแค่จะแสดงความคิดเห็นต่อรัฐธรรมนูญฉบับนั้นยังไม่ได้ มันก็ไม่น่าจะมีความหมาย”
 

สุดท้าย ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า เพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายในสังคม “ในด้านเนื้อหา การกำหนดให้มีองค์กรที่ไม่ยึดโยงกับหลักประชาธิปไตย เช่น คณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ส.ว.ลากตั้ง นายกฯ คนนอก ถ้าเอากลับมาอีกก็จะเกิดความขัดแย้ง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องพื้นฐานเราผ่านการต่อสู้ทางการเมืองยาวนาน มันน่าจะลงหลักปักฐาน”
อีกประเด็น การร่างเนื้อหาที่ลิดรอนสิทธิของคนชายขอบ คนด้อยโอกาส เพราะ “คนชายขอบคนด้อยโอกาสต้องการขยายพื้นที่ทางการเมือง การมีส่วนร่วมในการจัดการนโยบายสาธารณะ การร่างรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ เช่น พ.ร.บ.ชุมนุม มันส่งผลต่อชีวิตของคนด้อยโอกาสทำให้พวกอยู่ไม่ได้
“ในด้านกระบวนการ กระบวนการที่เป็นอยู่ขณะนี้ ถ้าพูดถึงคนด้อยโอกาสเขาไม่มีสิทธิมีเสียงไม่ตัวแทน กระบวนการตอนนี้คับแคบ ผู้มีอำนาจในการเลือกคนร่างรัฐธรรมนูญเป็นคนกลุ่มเล็กๆ เวลาเลือกก็เลือกคนที่มีความคิดเห็นเหมือนตนเอง เลือกพวกตัวเอง การร่างรัฐธรรมนูญควรให้มีการเลือกตัวแทนจากหลายภาคส่วน และการร่างต้องมีการเปิดเผยสาธารณะ ไม่ใช่เปิดลับเพราะกลัวความขัดแย้งเหมือนที่ผ่านมา”
นี่คือสามความเห็นจากสามนักวิชาการ
คุณล่ะคิดอย่างไร วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคมนี้ เวลา 6 โมงเย็นเป็นต้นไป ร่วมกันป่าวประกาศพร้อมกันในโลกออนไลน์ว่า รัฐธรรมนูญแบบไหน? #ไม่เอาแล้ว 

source :- http://ilaw.or.th/node/3880

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top