จับตานโยบาย “โค่นยาง” จ.ศรีสะเกษ เฉียดพันไร่ ดีเดย์ 15 ต.ค.นี้ “รองอธิบดีกรมป่าไม้” ยอมรับ ชาวบ้านต่อต้านหนัก ต้องปรับลดเป้าเหลือ 1.5 แสนไร่
มาตรการทวงคืนผืนป่าของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ภายหลังพบว่าส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการกับคนเล็กคนน้อย และชาวบ้านบางส่วนได้ใช้ประโยชน์ที่ดินมาก่อนจะมีการประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ขณะที่นายทุนซึ่งครอบครองที่ดินจำนวนมาก กลับไม่ถูกดำเนินการใดๆ
ล่าสุด จ.ศรีสะเกษ มีการจัดประชุมเตรียมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ตามแผนปฏิบัติการตัดไม้ยางพาราในพื้นที่บุกรุก โดยมีหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายในผืนป่าห้วยทับทัน จำนวน 979.30 ไร่ และจะเริ่มเปิดปฏิบัติการในวันที่ 15 ต.ค.นี้
สำหรับพื้นที่เป้าหมาย 979.30 ไร่ ใน อ.ห้วยทับทัน แบ่งออกเป็น บ้านหนองอาคูณ ต.ปราสาท จำนวน 329.22 ไร่ บ้านกระเต็ล ต.ผักไหม จำนวน 100.80 ไร่ ป่าฝั่งขวาห้วยทับทัน จำนวน 430.02 ไร่ และป่าสนละเอาะ จำนวน 119.26 ไร่
ในส่วนของขั้นตอนการปฏิบัติ เริ่มจากเตรียมการ สำรวจพื้นที่ ตรวจสอบพื้นที่ กำหนดแผนปฏิบัติงาน และปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงมาตรการทางปกครอง กระทั่งเข้าสู่การฟื้นฟูสภาพป่า การนำไม้ยางพารามาใช้ประโยชน์
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นางเปรมพิมล พิมพ์พันธุ์ รองอธิบดีกรมป่าไม้ ยอมรับว่า กรมป่าไม้สามารถทวงคืนผืนป่าจากกลุ่มนายทุนที่บุกรุกปลูกสวนยางพาราได้แล้ว 93,006 ไร่ จากเป้าหมายทั้งหมด 400,000 ไร่ โดยได้ดำเนินการรื้อถอน 19,349 ไร่ และอยู่ระหว่างรอดำเนินการรื้อถอนและตัดโค่นต้นยางพาราอีก 25,543 ไร่
“การดำเนินการทวงคืนผืนป่าล่าช้ากว่าแผนเดิมที่กำหนดไว้ เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่คัดค้านโดยการอ้างเอกสารสิทธิ์ และอยู่อาศัยทำกินมายาวนานแล้ว ทำให้กรมป่าไม้ต้องปรับแผนตัวเลขพื้นที่ทวงคืนผืนป่าในปี 2558 เหลือเพียง 150,000 ไร่ คาดว่าจะดำเนินการยึดคืนป่าแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมนี้” นางเปรมพิมล กล่าว

 
Top