นักกฎหมาย 2 ประเภท
นักกฎหมายมี 2 ประเภท คือนักกฎหมายที่มีความเป็น "นักปรัชญากฎหมาย" ในตัวเอง ในบ้านเราผมนึกถึง อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ความเป็นนักปรัชญากฎหมายในตัวอาจารย์คือ การถือว่า กฎหมายต้องเชื่อมโยงกับหลักความยุติธรรมตามระบบ ปชต.เสมอ ฉะนั้นจุดยืนในการเสนอความเห็นเกี่ยวกับร่าง รธน. การตีความกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายของอาจารย์วรเจตน์ จึงเป็นจุดยืนที่ยึดอุดมการณ์ ปชต.เป็นหลัก นั่นคือรัฐธรรมนูญที่ดี การบัญญัติกฎหมายที่ดี การตีความ,บังคับใช้กฎหมายที่ดี ต้องสอดคล้องกับหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคในกรอบ ปชต.เสมอไป
แต่นักฎหมายอีกประเภทเป็นเพียง "นักเทคนิคทางกฎหมาย" เก่งในเรื่องร่างกฎหมายให้เหมาะกับสถานการณ์เฉพาะหนึ่งๆ นักกฎหมายประเภทนี้ไม่ได้ยึดอุดมการณ์ ปชต.เป็นหลักในการบัญญัติ,ตีความ,บังคับใช้กฎหมาย ฉะนั้นพวกเขาจึงสามารถจะเป็น "เนติบริกร" รับใช้ได้ทุกระบบอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจจากการเลือกตั้งหรืออำนาจจากรัฐประหาร
ยิ่งกว่านั้น ทั้งๆที่เขาเคยรับใช้ขั้วอำนาจหนึ่งมาก่อน แต่พอวันหนึ่งได้มารับใช้ขั้วอำนาจตรงข้าม เขาก็ใช้ความเชี่ยวชาญตีความกฎหมายเอาผิดกับขั้วอำนาจที่ตนเคยรับใช้เป็นอย่างดีมาก่อนได้อย่างหน้าตาเฉยอีกด้วย
น่าสังเกตว่า "นักเทคนิคทางกฎหมาย" จะมีภาพลักษณ์เป็น "คนดี" หลายคนเก่งเรื่องพุทธศาสนา รอบรู้เรื่องพระสงฆ์ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวัดวาศาสนาเป็นอย่างดี
ฉะนั้น "ความเป็นนักเทคนิคทางกฎหมาย+ความเป็นคนดีแบบไทย" จึงทำให้คนประเภทนี้ทำอะไรไม่ผิด ไม่ต้องรับผิดชอบทางศีลธรรมและทางกฎหมายใดๆ ไม่ว่าพวกเขาจะเข้าไปรับใช้อำนาจจากการเลือกตั้งหรืออำนาจจากรัฐประหาร พวกเขาก็เข้าไปในฐานะ "คนเก่งและดี" ที่ชาติต้องการเสมอ
คนเก่งและดีประเภทนี้แหละที่คอยชี้นิ้วว่า "คนบางกลุ่ม" ทุจริต และเป็นผู้ทำหน้าที่ร่างกฎหมายให้คนทั้งชาติปฏิบัติเสมอมา โดยที่การร่างกฎหมายของพวกเขาไม่จำเป็นต้อง "สุจริต" ต่ออุดมการณ์หรือหลักการ ปชต.แต่อย่างใด


 
Top