ทนายยิ่งลักษณ์ “ ชี้” ข้ออ้างรัฐบาลไม่มีทางเลือกอื่นคดีเรียกค่าเสียหายจำนำข้าวต้องใช้อำนาจฝ่ายปกครอง ตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิด ไม่ถูกต้อง ระวังเข้าข่าย “ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย” พร้อมระบุรัฐบาลต้องให้อัยการฟ้องคดีที่ศาลยุติธรรมหากเทียบเคียงคดี “เริงชัยฯ ” 
.............................................

วันนี้ (14 ต.ค.2558) นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง ข้ออ้างของอาจารย์วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในการเสนอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ใช้อำนาจออกคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ฯ เพื่อบังคับชำระหนี้ โดยอ้างว่าเพราะไม่มีทางเลือกอื่นนั้นไม่จริง ด้วยเหตุผลดังนี้
1. พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 73/1 วรรคสอง ที่เป็นเหตุให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ และเรียกร้องค่าเสียหาย หากมีค่าเสียหายตามที่อาจารย์วิษณุฯอ้างนั้นไม่เป็นความจริงกล่าวคือ
“ กฎหมายดังกล่าวไม่ได้ระบุให้ใช้กฎหมายใดเรียกค่าเสียหาย และแม้จะใช้ พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 โดยอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐฯ กระทำการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงก็ตาม แต่ก็มิใช่ไม่มีทางเลือกอื่นตามที่นายวิษณุกล่าวอ้าง” เพราะคดีนายเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าธปท.เกี่ยวกับการปกป้องค่าเงินบาทที่อาจารย์วิษณุฯ นำมาอ้างเป็นบรรทัดฐานนั้น ความจริงแล้ว คดีดังกล่าวเมื่อสอบสวนเสร็จธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะหน่วยงานของรัฐได้ยื่นฟ้องนายเริงชัยฯ ต่อศาลยุติธรรม ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เพื่อให้ศาลยุติธรรมพิจารณาพิพากษา แทนการออกคำสั่งทางปกครอง
2. คดีนายเริงชัยฯ ที่อาจารย์วิษณุฯ ยกมาเป็นข้ออ้างเทียบเคียงเป็นบรรทัดฐาน มีข้อโต้แย้งของคู่ความในคดีเรื่องเขตอำนาจของศาลภายหลังธนาคารแห่งประเทศไทย ยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรม ปรากฏว่าศาลแพ่ง และศาลปกครองได้มีคำวินิจฉัย เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลตามความเห็นที่ 63/2545 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2545 ว่า “คดีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยที่เป็นหน่วยงานของรัฐฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐในฐานความผิดเรื่องละเมิดตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม”
3. สำหรับเหตุผลที่ไม่ควรใช้ทางเลือกที่อาจารย์วิษณุเสนอให้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ เป็นผู้ออกคำสั่งทางปกครองมีดังนี้ คือ
3.1 โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการสาธารณะที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ไม่ใช่ผู้สั่งการทำงานโดยตรง จึงไม่สมควรใช้วิธีการที่ให้ พลเอกประยุทธ์ ออกคำสั่งทางปกครอง
3.2 การจะเรียกค่าเสียหายเกี่ยวกับการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวก็เช่นเดียวกันกับคดีนายเริงชัย เพราะเป็นกรณีที่กระทรวงการคลังหน่วยงานของรัฐกล่าวหาน.ส.ยิ่งลักษณ์ว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐในข้อกฎหมายเดียวกัน จึงต้องถือว่าเป็นคดีในลักษณะเดียวกันกับนายเริงชัยฯ ที่คดีอยู่เขตอำนาจของศาลยุติธรรม ไม่ใช่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง รัฐบาลจึงไม่ควรออกคำสั่งทางปกครองได้ เพราะกรณีไม่เข้าข่ายมาตรา 9 (3) ของ พรบ. จัดตั้งศาลปกครอง และ วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
3.3 พลเอก ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวแห่งชาติที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการรับจำนำข้าว และได้กล่าวหาในหลายครั้งว่าโครงการทำให้ประเทศชาติเสียหาย จึงถือว่าเป็น “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” หรือ มิใช่ “ผู้ที่เป็นกลาง” ดังนั้นตามหลักนิติธรรมจึงไม่ควรออกคำสั่งทางปกครองตัดสินเอาผิดกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ควรจะส่งให้ศาลยุติธรรมพิจารณาพิพากษากรณีนี้
“การออกคำสั่งทางปกครองของ พลเอกประยุทธ์ ดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย” นายนรวิชญ์กล่าว

 
Top