พูดเรื่องภูทับเบิกอีกทีว่า มันคือปัญหาของธุรกิจท่องเที่ยวกับการรักษาทรัพยากร คนไปเที่ยวก็อยากสะดวกสบาย คนท้องถิ่นก็อยากได้ผลประโยชน์ เป็นเรื่องธรรมดา จะให้ม้งปลูกกะหล่ำให้ชมฟรีตลอดชาติหรือ
ในทางเศรษฐกิจมันเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงมาก คนระดับบนของสังคมไทยหาเงินง่าย แล้วก็ไปกว้านซื้อสะสมทรัพยากร ที่ดินราคาแพงเกินรายได้คนทั่วไป คนรวยคนชั้นกลางระดับบนรุกไล่ถือครองจนเกือบหมด กระทั่งรุกล้ำป่า ที่สงวน สปก. ซึ่งที่ไปเล่นงานเฉพาะโบนันซ่าเขาใหญ่นั่นแค่จิ๊บๆ ถ้าไม่เลือกปฏิบัติ ก็กวาดได้เกือบหมด
ในทางการเมือง ใครจะรับผิดชอบดูแลปกป้องจัดระเบียบการใช้ทรัพยากร ระบบราชการ อำนาจส่วนกลาง ก็ไม่พ้นฉ้อฉล องค์กรปกครองท้องถิ่นวันนี้คนยังไม่เชื่อถือ แต่ถ้าดูตัวอย่างฝรั่ง ก็ต้องเป็นท้องถิ่นนั่นแหละ โดยต้องเข้าใจ "ประชาธิปไตยฝรั่ง" ว่าเขามีพื้นฐานจากการปกครองตนเอง "แบบไทยๆ" ที่มันมีปัญหาเพราะไม่เคยปล่อยให้ประชาชนปกครองตนเอง มันก็ไม่เข้มแข็งซักที
00000
เห็นภาพคนนับหมื่นๆ แห่ไปเที่ยวภูทับเบิก “แทบแตก” รถติดยาวเหยียด ทั้งที่กำลังเป็นข่าวจัดระเบียบไล่รื้อรีสอร์ท ก็รู้สึกย้อนแย้งเสียกระไร นี่ความผิดใครกันแน่ “นายทุน” ชาวเขา ส่วนราชการ การท่องเที่ยว หรือว่านักท่องเที่ยวด้วย
การจัดระเบียบภูทับเบิกเกิดปุบปับเพราะกระแสโซเชียลมีเดีย ภาพห้องพักผุดรกรุงรังทำลายธรรมชาติ สร้างความสะเทือนใจให้ “ชาวเน็ต” จนกดดันทุกส่วนราชการขยันทันใจ ผู้หลักผู้ใหญ่แห่ไปตรวจสอบ
แต่นอกจากไล่รื้อรีสอร์ทนักลงทุนต่างถิ่น ในส่วนชาวม้งผู้ได้รับจัดสรรที่ทำกิน ราชการจะทำอย่างไร จะรื้อหมดไหม หรือแค่ดูแลการก่อสร้างให้มั่นคงปลอดภัย เจ้าหน้าที่บางคนบอกไม่ควรให้สร้างรีสอร์ทบนภูทับเบิกเลย ให้นักท่องเที่ยวพักข้างล่างแทน ฟังเหมือนเข้าท่า แต่แปลว่าคนม้งภูทับเบิกต้องมีอาชีพปลูกกะหล่ำให้ชม โดยไม่ได้อานิสงส์จากการท่องเที่ยวเลย
ภูทับเบิกเปลี่ยนไปแล้ว ยังไงๆ ก็เปลี่ยนไป ในเมื่อใครๆ ก็อยากไปเที่ยว เมื่อไปแล้วก็อยากสะดวกสบาย โดยเฉพาะคนเมืองอยากมีที่จอดรถ มีห้องพัก มีเครื่องทำน้ำอุ่น มีกาแฟสดขาย ฯลฯ แต่กลับอยากให้คนม้งปลูกกะหล่ำให้ดูซ้ำซากดักดาน ทั้งที่ทำรีสอร์ทรายได้ดีกว่าหลายสิบเท่า (ผัดกะหล่ำขายจานละ 100 ยังบ่นอีก แหม อยากกินกะหล่ำถูกไม่ต้องถ่อไปถึงภูทับเบิก ตลาดข้างบ้านก็มี)
คนในเมืองรักความสะดวกสบาย แต่อยากให้คนชนบทอนุรักษ์ธรรมชาติไว้ เพื่อให้ตัวเองไปเที่ยวชม อยากให้คนชนบท “รู้จักพอ” สตาฟฟ์ชีวิตพื้นบ้านทำการเกษตรไว้ เวลาขับรถผ่านจะได้ชื่นตาชื่นใจกับไร่นาเขียวขจี
แต่ก็คนเมืองนี่แหละตัวดี มีโอกาสเป็นต้องรุกไล่ธรรมชาติ ซื้อบ้านพักตากอากาศ บ้านหลังที่สองที่สามที่สี่ไม่ใช่แค่ภูทับเบิกหรอก ทุกที่แหละ เขาใหญ่-วังน้ำเขียวก็น่าตกใจ รีสอร์ทบ้านพักเต็มไปหมด มีกระทั่งคอนโด ไม่นานนี้มีข่าวไล่นักการเมือง “รุกป่า” แต่ไม่ยักตรวจสอบให้หมด เพราะเอกสารสิทธิผิดกฎหมายมีอีกเยอะ
เขาใหญ่รถติดเหมือนกันนะครับ แต่พอกรมทางหลวงขยายถนน ก็โดนคนรักต้นไม้รักธรรมชาติฟ้องศาลปกครองให้กรมทางหลวงปลูกต้นไม้คืนซะงั้น ส่วนที่ภูทับเบิก จังหวัดกำลังตัดถนนเพิ่ม แต่โดนป่าไม้จับผู้รับเหมาฐานตัดถนนผ่านป่า (ซึ่งก็ประหลาด ผู้รับเหมาทำสัญญากับราชการ ไปจับผู้ว่าฯ สิ อนุมัติก่อสร้างได้ไง)
ภูทับเบิกเป็นแค่ปรากฏการณ์หนึ่งไม่ต่างจากแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ป่าไม้ ชายทะเล หรือพื้นที่สีเขียวที่กำลังถูกรุกราน ไม่ต้องดูอื่นไกล กระทั่งบางกระเจ้า พื้นที่สีเขียวกลางกรุง วันนี้ก็กลายเป็นทำเลทองบ้านจัดสรร สำหรับคนมีตังค์ที่อยากใช้ชีวิตสวยหรูอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ
ทำไมคนไทยไม่รู้จักรักษาธรรมชาติสภาพแวดล้อม ไม่เหมือนฝรั่ง เจริญเพียงไรก็ยังรักษาไว้ได้ ด้านหนึ่งน่าจะเป็นเพราะ “ประชาธิปไตยแบบปกครองตนเอง” ของฝรั่งเข้มแข็งจนประชาชนมีสำนึกเป็นเจ้าของท้องถิ่น
แต่อีกด้านก็เป็นเพราะสังคมไทยเหลื่อมล้ำสูงมากราคาที่ดิน ราคาสินทรัพย์ พุ่งสูงเกินรายได้คนทั่วไป (แถมสะสมที่ดินได้โดยไม่เสียภาษี) คนม้งจะปลูกกะหล่ำปลีไปทำไม คนบางกระเจ้าขายน้ำตาลมะพร้าวได้กี่บาทแม้แต่ชาวนายังไม่อยากทำนา ถ้ามีที่ดินสวยๆ ก็ขายทำรีสอร์ทหรือขายให้คนมีเงินทำบ้านพักตากอากาศดีกว่า
ใบตองแห้ง
source :- FB Atukkit Sawangsuk & http://www.kaohoon.com/online/content/view/21974
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น