นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นและแคนาดาคว้ารางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ พิสูจน์อนุภาคนิวตริโนมีมวลและเปลี่ยนรูปไปมาได้
ศาสตราจารย์ทาคาอากิ คาจิตะ จากมหาวิทยาลัยโตเกียวของญี่ปุ่น และศาสตราจารย์ อาเธอร์ แมคโดนัลด์ จากมหาวิทยาลัยควีนส์ในแคนาดา เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปีนี้ร่วมกัน ด้วยผลงานการพิสูจน์ว่าอนุภาคนิวตริโน ซึ่งติดตามศึกษาได้ยากนั้น สามารถเปลี่ยนรูป (flavors) ไปมาได้ ทั้งยังมีมวลด้วย
ทั้งสองต่างใช้อุปกรณ์สังเกตการณ์และตรวจจับอนุภาคที่อยู่ลึกลงไปใต้ดินในเหมืองที่ไม่ใช้งานแล้ว ในจังหวัดกิฟุของญี่ปุ่น และที่เมืองออนตาริโอของแคนาดา เฝ้าศึกษาอนุภาคนิวตริโนที่ปล่อยออกมาจากดวงอาทิตย์หรือการระเบิดของดาวฤกษ์ (ซูเปอร์โนวา) ในอวกาศที่ห่างไกลออกไป และเกิดเปลี่ยนรูปขณะชนเข้ากับบรรยากาศของโลก
ทั้งสองต่างได้ผลการศึกษาที่เหมือนกันว่า อนุภาคนิวตริโนซึ่งตามทฤษฎีแล้วควรจะเป็นอนุภาคที่มีจำนวนมากเป็นอันดับสองในจักรวาลรองจากโฟตอนของแสง แต่ในอดีตกลับตรวจพบได้น้อยมากนั้น เป็นเพราะอนุภาคนิวตริโนสามารถเปลี่ยนรูป (flavors) ไปมาได้ถึงสามแบบ คือเปลี่ยนเป็นอนุภาคมิวออน เทา และอิเล็กตรอน ซึ่งการเปลี่ยนรูปไปมาได้นี้ ยังพิสูจน์ว่านิวตริโนมีมวลอีกด้วย แม้จะน้อยมากก็ตาม
การค้นพบนี้ให้ความรู้ใหม่ที่ขัดแย้งกับแบบจำลองมาตรฐานของฟิสิกส์อนุภาคเดิม และทำให้ผลการคำนวณเพื่อทำนายอนาคตของจักรวาลเปลี่ยนไป ซึ่งหมายถึงว่า จักรวาลมีแนวโน้มจะขยายตัวออกไปอย่างไม่สิ้นสุดอีกด้วย


 
Top