พรรคคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ จากองค์กรการเมืองกลายเป็นสถาบันสืบทอดเผด็จการสามชั่วคนได้อย่างไร ?
ในวันนี้ (10 ต.ค.) เกาหลีเหนือจัดพิธีสวนสนามครั้งยิ่งใหญ่ เฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีการก่อตั้งพรรคคนงาน ซึ่งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์พรรคแรกและพรรคเดียวของประเทศซึ่งยังครองอำนาจมาจนถึงทุกวันนี้ ไมเคิล แมดเดน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเกาหลีเหนือ ได้อธิบายถึงความเป็นมาของพรรคนี้และผู้นำรุ่นต่างๆ ซึ่งเป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวแปลกประหลาดและการนองเลือด จนทำให้องค์กรทางการเมืองตามอุดมการณ์คอมมิวนิสต์แต่เดิม กลายมาเป็นสถาบันรองรับการสืบทอดอำนาจของผู้นำเผด็จการตระกูลคิมถึงสามชั่วคนแล้ว
เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 1926 นาย คิม อิล ซุง ซึ่งยังเป็นเพียงเด็กวัยรุ่น ได้ก่อตั้ง “สหภาพต่อต้านจักรวรรดินิยม” ขึ้นเพื่อเคลื่อนไหวรณรงค์ต่อต้านการแผ่ขยายอำนาจของญี่ปุ่น ทั้งเพื่อเผยแพร่ลัทธิมาร์กซ์และเลนินไปด้วย หลายคนอยากถือเอาวันนี้เป็นวันก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ของเกาหลีเหนือ แต่การก่อตั้งพรรคที่แท้จริงนั้นเริ่มขึ้นเมื่อปี 1949 โดยคอมมิวนิสต์ในเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ได้รวมตัวกันเพื่อจุดหมายในการรวมชาติ
คิม อิล ซุง นั้นเป็นตำนานของความกล้าบ้าบิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหตุการณ์บุกชิงเมืองโปชอนโบจากกองทัพญี่ปุ่น เมื่อปี 1937 ขณะที่เขามีอายุเพียง 24 ปี ซึ่งเป็นวีรกรรมที่เลื่องลืออย่างมาก แม้จะสามารถชิงเมืองมาครองไว้ได้เพียงไม่กี่ชั่วโมงก็ตาม ทำให้รัสเซียยอมยกให้เขาเป็นผู้นำศูนย์กลางในการก่อตั้งพรรคคนงานเกาหลีเหนือ ซึ่งช่วงแรกประกอบไปด้วยนักเคลื่อนไหวชาวเกาหลีเชื้อสายจีน ผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์เชื้อสายเกาหลีจากรัสเซีย ผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์จากเกาหลีใต้ที่อพยพมายังเกาหลีเหนือ และหน่วยรบแบบกองโจรของเขาเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อ คิม อิล ซุง สามารถรวบอำนาจการเป็นผู้นำสูงสุดของพรรคได้สำเร็จ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคที่มีสายสัมพันธ์กับต่างชาติเหล่านี้กลับถูกเขาขจัดไปจนหมด ด้วยการกล่าวหาว่าเป็นสายลับแล้วเนรเทศ จับขังคุก หรือถูกทำให้หายสาบสูญ หลังเหตุการณ์ความขัดแย้งรุนแรงในการประชุมพรรคเมื่อปี 1956 ซึ่งมีผู้วางแผนโค่นล้มเขา ต่อมาเรียกเหตุการณ์นี้กันว่า เหตุการณ์ความแตกแยกเดือนสิงหาคม และว่ากันว่าลูกหลานของคนที่ถูกเขากำจัดในเหตุการณ์นี้ ยังคงถูกจองจำอยู่ในสถานกักกันนักโทษการเมืองหลายแห่ง
เพียงหนึ่งปีถัดมา พรรคคนงานเกาหลีเหนือได้เริ่มมีการใช้ระบบ “ซองบุน” หรือระบบชนชั้น ที่แบ่งแยกพลเมืองออกเป็นสามชนชั้นหลัก ซึ่งที่จริงระบบนี้ก็คือการกวาดล้างศัตรูทางการเมืองขนานใหญ่นั่นเอง โดยหนึ่งในสามชนชั้นนั้นคือ “ชนชั้นศัตรู” ซึ่งถูกจัดให้เป็นภัยทางการเมือง คนกลุ่มนี้ไม่ต้องหวังถึงความเจริญก้าวหน้าทั้งในเรื่องส่วนตัวและอาชีพการงานใดๆ ระบบชนชั้นนี้ควบคุมโดยฝ่ายชี้นำองค์กรของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นหน่วยงานกุมอำนาจสูงสุดในช่วงทศวรรษที่ 1960 เพราะสามารถชี้เป็นชี้ตายได้ว่า พลเมืองคนไหนเป็นมิตรหรือศัตรู
การเข้ารวบอำนาจสูงสุดทางทหารของ คิม อิล ซุง ยังเกิดขึ้น ในระหว่างเหตุการณ์นองเลือดทางการเมืองช่วงปี 1967-1971 ที่เขาขจัดเจ้าหน้าที่ระดับสูง 17 คน ซึ่งส่วนใหญ่เคยเป็นสมาชิกในกลุ่มกองโจรของเขามาก่อน การกวาดล้างในครั้งนี้ยังตรงกับเหตุการณ์ที่เกาหลีเหนือจับเรือสอดแนม USS Pueblo ของสหรัฐได้ ในปี 1968 อีกด้วย และหลังจากการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 5 ของพรรคในปี 1970 พรรคคนงานเกาหลีเหนือได้เปลี่ยนจากการเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วไป มาเป็นพรรคการเมืองภายใต้ลัทธิบูชา คิม อิล ซุง ในฐานะผู้นำสูงสุด และพรรคมีหน้าที่ตอบสนองเจตนารมณ์ของเขาในทุกเรื่อง ลัทธิบูชาผู้นำนี้ นำมาซึ่งการสืบทอดอำนาจของตระกูลคิม โดยเมื่อปี 1973 คิม จอง อิล บุตรชายของเขาได้รับตำแหน่งสูงภายในพรรค โดยเป็นถึงหัวหน้าฝ่ายชี้นำองค์กรของพรรคคอมมิวนิสต์เลยทีเดียว ระหว่างที่อยู่ในตำแหน่งนี้ คิม จอง อิล ใช้อิทธิพลขจัดศัตรูทางการเมืองของตนในแบบเดียวกับพ่อของเขา ซึ่งรวมถึงแม่เลี้ยงที่พยายามผลักดันบุตรชายของตนขึ้นมาเป็นคู่แข่งในการสืบทอดอำนาจกับเขาด้วย ในช่วงทศวรรษที่ 1990 เขายังกำจัดเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกจำนวนมาก จนเข้าคุมอำนาจในกองทัพและขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดได้สำเร็จ
หลังมรณกรรมของ คิม อิล ซุง ในปี 1994 และเหตุทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ที่เรียกกันว่า “เหตุการณ์เดือนมีนาคมอันยากแค้น” พรรคคนงานเกาหลีเหนือแทบจะหมดสิ้นบทบาททางการเมืองไป โดยไม่มีการประชุมคณะกรรมการกลางของพรรคเป็นเวลานานในช่วงปี 1993-2010 อย่างไรก็ตาม คิม จอง อิล ได้กลับมาพลิกฟื้นบทบาทของพรรคขึ้นใหม่ ในช่วงที่เขาเตรียมปูทางให้บุตรชายคือ คิม จอง อึน ขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดสืบต่อจากเขา ซึ่งในทุกวันนี้ พรรคคนงานถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวสำหรับคิม จอง อึน ไปแล้ว โดยเขาใช้คณะกรรมาธิการกลางการทหารของพรรคเป็นศูนย์อำนาจ และใช้กรมการเมืองของพรรคขจัดศัตรูทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นอดีตเสนาธิการ นายพล รี ยอง โฮ หรือ จาง ซอง แต็ก น้าเขยของเขาเอง ซึ่งเรียกได้ว่า มรดกทางการเมืองของตระกูลคิม ยังคงดำเนินต่อไปแม้จะอยู่ในยุคของผู้นำรุ่นที่สามแล้วก็ตาม


 
Top