0

“สมชัย สุวรรณบรรณ” ฟ้องศาลปกครองเรียกค่าเสียหายไทยพีบีเอสเลิกจ้าง ด้านประธานกรรมการนโยบายยืนยันทำตามขั้นตอนทำผิดสัญญาจ้างงาน เลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่มีเงินชดเชย
เช้าวันนี้นายสมชัย สุวรรณบรรณ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือไทยพีบีเอส ได้เข้ายื่นเรื่องต่อศาลปกครองเช้าวันนี้ ฟ้องร้องประธานคณะกรรมการนโยบายของไทยพีบีเอส คณะกรรมการนโยบายทั้งคณะ และไทยพีบีเอสในฐานะนายจ้างในข้อกล่าวหาว่าเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม และผิดระเบียบหลักเกณฑ์ นอกจากนายสมชายแล้ว ยังมีทีมงานทั้งอดีตรองผอ.และกรรมการบริหารรวมแล้ว 6 คนด้วยกันยกเว้นนายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องสิ้นสภาพการจ้างงานเมื่อนายสมชัยถูกปลด
นายสมชัยกล่าวว่า การฟ้องร้องหนนี้เป็นการเรียกค่าเสียหาย เพราะเห็นว่า หากฟ้องร้องเรียกให้รับกลับเข้าทำงาน ขณะที่ไทยพีบีเอสเริ่มกระบวนการสรรหาตัวผู้บริหารใหม่แล้วนั้นจะยิ่งสร้างความบอบช้ำให้องค์กร แต่ตนก็ถือว่า คณะกรรมการนโยบายจะต้องรับผิดชอบต่อปัญหาความชะงักงันและความเสียหายหลายอย่างอันเนื่องมาจากการที่องค์กรขาดทีมงานบริหารในช่วงนี้
ปัญหาที่จะเกิดจากการที่งานสะดุดอย่างหนึ่งนั้น นายสมชัยบอกว่า คือในการดำเนินโครงการเปลี่ยนจากระบบอะนาล็อกเป็นดิจิตอล ซึ่งไทยพีบีเอสร่วมกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือกสทช.เพื่อเริ่มทดลองการเปลี่ยนระบบ ก่อนจะเปลี่ยนทั่วประเทศซึ่งมีเป้าหมายที่ปี 2561 ในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ไทยพีบีเอสจะเริ่มปิดระบบอะนาล็อคและเปิดระบบดิจิตอลใช้ในสองแห่งแรกคือที่เกาะสมุยและไชยปราการ โดยใช้เป็นจุดเริ่มต้นเรียนรู้ปัญหา โครงการนี้น่าจะมีอุปสรรคเนื่องจากขาดผู้บริหารระดับสูงสานต่อ อีกอย่างที่สำคัญคือการดำเนินงานตามแผนบริหารกิจการสามปีที่จะสรุปกันในปลายเดือนธ.ค. รวมทั้งแผนพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับระบบดิจิตอล เป็นอีกงานหนึ่งที่จะกระทบในระหว่างที่มีการสรรหาผู้บริหารชุดใหม่ที่จะเข้ามารับงานต่อไป
นายสมชัยระบุว่า สิ่งที่คณะกรรมการนโยบายกล่าวโทษตนเรื่องไม่ดำเนินการตามคำแนะนำนั้นต้องบอกว่า หากเป็นคำแนะนำของคณะกรรมการที่เป็นลายลักษณ์อักษรตนทำตามทั้งสิ้น แต่ที่ผ่านมาคณะกรรมการให้ความเห็นแตกต่างกันไปมากยากจะหาจุดลงตัวได้ หากไม่มีการลงมติและเป็นเพียงการชี้แนะหรือแสดงข้อคิดเห็น ข้อสังเกต ก็ต้องมอบให้ทีมงานไปดำเนินการเท่าที่จะทำได้
ด้านนายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานคณะกรรมการนโยบายไทยพีบีเอสกล่าวกับบีบีซีไทยว่า ในเรื่องของกระบวนการเลิกจ้างนั้น คณะกรรมการนโยบายยึดหลักตามสัญญาซึ่งเป็นสัญญาจ้างงานเฉพาะตัวและมีข้อความระบุชัดเจนว่า หากผู้ถูกว่าจ้างทำผิดสัญญา สามารถจะเลิกจ้างได้ทันทีและโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย โดยสิ่งที่คณะกรรมการเห็นชัดเจนคือเรื่องของการขาดส่งรายงานผลการดำเนินงานทุกสามเดือน ซึ่งเท่าที่ตนเริ่มงานมายังไม่เห็นรายงานนี้จากอดีตผอ. ประเด็นว่าเหตุใดจึงต้องเลิกจ้างทันที ประธานกรรมการนโยบายไทยพีบีเอสชี้ว่า นี่เป็นเรื่องที่คณะกรรมการนโยบายเห็นว่าจำเป็น เนื่องจากรายงานผลการดำเนินงานเป็นสิ่งสำคัญที่กรรมการจะสามารถนำไปใช้ประเมินผลงาน ความสำเร็จหรืออุปสรรคตลอดมีข้อเสนอแนะได้ หากไม่มีรายงานนี้ก็ขาดเครื่องมือในการทำงาน นอกจากนี้ทางคณะกรรมการเองก่อนที่จะลงมติกันนั้น ได้ยื่นข้อเสนอให้กับนายสมชัยให้สามารถยื่นใบลาออกโดยไม่ต้องมีผลทันทีได้ แต่นายสมชัยยืนยันให้มีการลงมติ เมื่อจะลงมติก็ต้องถือตามสัญญา ซึ่งการลงมติว่าทำผิดสัญญานำไปสู่การที่ต้องบังคับใช้สัญญาตามที่กำหนดอย่างเคร่งครัด นั่นคือต้องเลิกจ้างทันทีและอย่างไม่มีเงินชดเชย
“ที่เราห่วงตอนนี้คือ เราถูกมองเรื่องความคุ้มค่าของเงิน ใช้เงินปีละ 2,000 ล้านบาทคุ้มค่าหรือเปล่า บรรลุวัตถุประสงค์ไหม เรายังยืนยันว่าสิ่งที่เราทำโปร่งใส แต่เราก็ห่วง ขนาดสสส.ว่าทำดีแล้วยังโดนหนัก ของเราถ้าผิดพลาดเข้าฝ่ายบริหารไม่ทำรายงานนำเสนออาจเจอได้” ประธานคณะกรรมการนโยบายไทยพีบีเอสกล่าวว่า ในช่วงเวลานับแต่เข้ามาทำงานเชื่อว่าไม่มีประเด็นเรื่องการทุจริต แต่จะมีเรื่องของการทำผิดระเบียบ อย่างไรก็ตาม เรื่องที่นายสมชัยไปฟ้องศาลปกครองก็ถือว่าเป็นการทำตามสิทธิ และเรื่องจะออกมาอย่างไรให้ขึ้นกับการตีความของศาล
อนึ่ง ก่อนหน้านี้คณะกรรมการนโยบายได้ชี้แจงต่อพนักงานไทยพีบีเอสเรื่องการปลดผู้บริหาร โดยส่วนหนึ่งของคำชี้แจงระบุว่า การปลดนายสมชัยเป็นไปตามระเบียบเนื่องจากในการพิจารณาผลงานนั้น นายสมชัยไม่ผ่านเกณฑ์ โดยตามสัญญาจ้างงานกำหนดว่าจะผ่านก็ต่อเมื่อผลงานได้รับการยอมรับว่าเข้าขั้น ดี หรือดีมากเท่านั้น และนายสมชัยไม่ถึงขั้น นอกจากนี้สัญญาจ้างครบกำหนดวันที่ 9 ต.ค. แต่นายสมชัยส่งรายงานเพื่อประกอบการพิจารณาประเมินผลงานล่าช้า อย่างไรก็ตาม นายสมชัยกล่าวว่า สัญญาระบุไว้ชัดเจนว่าเมื่อพิจารณาแล้วผ่านเท่ากับรับรอง แต่ก่อนหน้าการเลิกจ้างไม่นาน ตนพบว่าคณะกรรมการนโยบายได้เปลี่ยนหลักเกณฑ์ใหม่ในเวลาสามเดือนก่อนที่จะประเมินผลตนและโดยไม่แจ้ง ก็ถือว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอน อีกประการหนึ่งเรื่องการส่งรายงานประเมินผลงานล่าช้าก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่คณะกรรมการนโยบายชุดก่อนหน้าให้ส่งรายงานหลังวันที่ 9 ต.ค.ได้และกระบวนการพิจารณาไปสิ้นสุดเอาปลายปีด้วยซ้ำ
ขอบคุณภาพจากผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top