หลังการต่อสู้ครั้งใหญ่ทางประวัติศาสตร์การเมืองเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 วีรชนหลายคนที่สูญเสียเลือดเนื้อจากเหตุการณ์ครั้งนั้น และต้องพรากจากครอบครัวไปอย่างตลอดกาล จนถึงวันนี้ผ่านมา 42 ปีแล้ว เหล่าบรรดาญาติและวีรชนที่มีชีวิตหลายคนรู้สึกว่ายังไม่ได้รับการเยียวยาอย่างเป็นธรรม
จนถึงวันนี้"นางละเมียด บุญมาก" ภรรยาของนายจีระ บุญมาก วีรชนที่ถูกยิงเสียชีวิตบนราชดำเนิน เมื่อเที่ยงวันที่ 14 ตุลาคม 2516 และ "นายประเวศ เอมอมร" วีรชนที่ถูกยิงจนบาดเจ็บในเหตุการณ์ 14 ตุลา และยังมีชีวิตอยู่ยังเดินหน้าเรียกร้องรัฐบาลออกนโยบายมอบค่าเยียวยาในฐานะตัวแทนสมาคมญาติและวีรชน 14 ตุลา
ขอค่าเยียวยา สู้มาหลายปี ขณะนี้ยังไม่ได้อะไรเลย
นางละเมียด บุญมาก นายกสมาคมญาติและวีรชน 14 ตุลา 16 กล่าวว่า สมาคมนี้ตั้งขึ้นมามีกรรมการ 5 คน ถ้าใครที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 14 ตุลามีความทุกข์ร้อนอะไรก็มาช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน แต่ช่วงหลังรายได้ร่อยหรอลงเรื่อยๆ ไม่ได้มีรายได้เข้ามามากนัก เลยต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐ ทำมา 3 ปีกว่าแล้ว ขณะนี้ก็ยังไม่ได้อะไรเลย
"มันมีทั้งผู้ที่อยากให้ และไม่อยากให้ มันก็เลยเรื้อรังมาจนบัดนี้ อำนาจเก่าก็ยังมีหลงเหลืออยู่ รากโคนเขายังมีหลงเหลืออยู่ แต่อย่าลืมนะว่าผ่านไปตั้ง 35 ปี เขาถึงเพิ่งจะมาจ่ายเรา"
นางละเมียดกล่าวต่อว่า ทางสมาคมจึงมาคิดกันว่าน่าจะเอาโมเดลแบบรัฐบาลเกาหลีใต้ที่รัฐจ่ายเงินค่าเยียวยา หากมีประชาชนเสียชีวิตในการชุมนุมทางการเมือง หลังจากนั้นจึงเรียกร้องไปทางรัฐบาลอภิสิทธิ์ เราขอเงินค่าเยียวยาไปเดือนละ 10,000 บาท แต่เขาขอลดเป็นเดือนละ 7,000 บาทก็โอเค แต่กำลังจะอนุมัติก็เกิดการยุบสภาในช่วงนั้น จึงไม่ได้เงิน จากนั้นเป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เรามีความหวังว่าจะได้เงิน แต่สุดท้ายก็มีการชุมนุมทางการเมือง สุดท้ายก็ไม่ได้อะไรอยู่ดี
"3 ปีกว่าแล้ว ต่อสู้มา ไม่ได้เงินเลย แต่มีคนตายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเงินที่เราเรียกร้องจำนวนนี้ จะไม่มีตกทอดไปสู่ลูกหลาน อย่างป้าเป็นเมีย ถ้าป้าตายก็จบเลย ไม่ตกไปถึงลูกหลาน เขาคงคิดว่าให้ตายไปก่อน จะได้ไม่ต้องจ่าย?"
ความหวังอยู่ที่นายกประยุทธ์
นางละเมียด เปิดเผยว่า นโยบายของรัฐบาลนี้คือการคืนความสุขให้ประชาชน ซึ่งตนก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง คนอื่นที่เขามาเรียกร้องหน้าทำเนียบรัฐบาล เขาก็ได้ในสิ่งที่เรียกร้อง แต่กับพวกเราทำไมถึงไม่ให้
ทั้งนี้ นางละเมียด ยังเปิดเผยอีกว่า ขณะนี้เรื่องอยู่ที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งส่งมาทางเลขานายกรัฐมนตรี แต่อำนาจในการให้เงินอยู่ที่นายกประยุทธ์ เพราะตามกฎหมายหากรัฐต้องจ่ายเงินเกิน 10 ล้านบาท จะต้องให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้อนุมัติ
"ก็ขอร้อง ขอไหว้นายกเลย ขอเราเถอะ เดี๋ยวเราก็ตายจากไปแล้ว แค่ 10 ปี เราจะอยู่ถึงหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่คนที่ไปนั่งในสภา ผู้มีอำนาจทั้งหลายที่เข้าไปนั่งเป็น สนช. สปท. ที่รัฐบาลเลือกไป ท่านได้ดีเพราะว่า 14 ตุลา ถ้าไม่มี 14 ตุลา คุณก็ไม่มีวันนี้หรอก"
ครบรอบ 14 ตุลา จัดงานรำลึก?
นางละเมียด เปิดเผยว่า ในปีนี้ยังคงมีการจัดงานนิทรรศการ 14 ตุลาเช่นเคย แต่สิ่งที่อยากตั้งคำถามคือ เราจะจัดนิทรรศการรำลึกไปเพื่ออะไรหากคนที่เป็นญาติและคนที่มีชีวิตรอดจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ยังไม่ได้รับเยียวยา
"วันที่ 14 ตุลาปีนี้จะเห็นคนที่นั่งรถเข็น มีสายยาง ขาขาด แขนขาด สติฟั่นเฟือนก็มี มีอายุ 80-90 อย่างป้าสาวหน่อยก็ 70 เข้าไปแล้ว ตอนนั้นคุณจีระอายุ 29 อนาคตกำลังไกลเลย แต่พวกคุณที่พาเราไปตาย ตอนนี้... มีเงินเดือนกิน มีเบี้ยประชุม คุณหันมาดูพวกเราบ้างไหม พวกเราต้องช่วยตัวเองทั้งนั้น แล้วคุณก็มาแตกแยกกันเอง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย เป็นเหลือง เป็นแดง แล้วเราจะพึ่งใครได้ ไปหาแดงก็บอกเราเป็นเหลือง ไปหาเหลืองก็บอกเราเป็นแดง แล้วจะทำยังไงกัน...
แต่ก็อยากจะบอกว่า งาน 14 ตุลา มันจะรำลึกถึงกันได้ยังไง ในเมื่อคนที่อยู่เบื้องหลังของคนที่เสียชีวิตยังลำบากกันเนี่ย แล้วจะมาบอกว่าสดุดีคนที่จากไป แต่คนที่อยู่เบื้องหลังยังอดยากกันเนี่ย แล้วมันจะรำลึกกันไปทำไม แล้วที่บอกว่าสืบทอดเจตนารมณ์ 14 ตุลา มีประชาธิปไตย มีเสรีภาพ แต่คุณไปปิดกั้นเขา คุณย้ายข้างไปอยู่กับพวกเขาเพื่อความอยู่รอดของคุณใช่ไหม?"
ถ้ายังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ก็พร้อมจะทำสิ่งที่ไม่อยากทำ...
นายประเวศ เอมอมร กล่าวว่า เราอายุกันมากแล้ว ถ้าครั้งนี้ยังไม่ได้ในสิ่งที่เรียกร้อง ก็จะตัดสินใจทำบางอย่างที่ไม่อยากทำ ยังไม่รู้ว่าคืออะไร แต่ยืนยันว่าทำแน่
"ถ้ายังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ญาติและวีรชน 14 ตุลา ก็พร้อมที่จะทำสิ่งที่ไม่อยากทำ เพราะอายุมากๆแล้ว เพราะถ้ารออีกก็อาจจะตายกันหมด" ถ้อยคำทิ้งท้ายจากญาติและวีรชนคน 14 ตุลา

 
Top